ไม่พบผลการค้นหา
น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดสูตรคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง และการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ชี้การเลือกตั้งที่จะมีถึง ทุกคะแนนมีความหมายทั้งสิ้น และเส้นทางนายกฯ คนนอกก็อาจจะไม่ง่ายอย่างที่หลายฝ่ายคิด

โปรดอ่านโดยละเอียดนับตั้งแต่บรรทัดถัดไป

ว่าด้วย : คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง, นายกฯคนนอก และการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์

คำเตือน : บทความนี้ยาวมาก และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

การเปิดให้ลงทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2561 นำความคึกคักให้หวนคืนมาสู่การเมืองไทย

กระแสข่าวพรรคใหม่ที่เป็น "ทางเลือกใหม่" อย่างน้อย 2 พรรค ทำให้เกิดความตื่นตัวและตั้งคำถามเกี่ยวกับการได้มาของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะประเด็น "นายกฯคนนอก" และ "การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting)

ผมจึงลองทบทวนกฎกติกาสูงสุดเท่าที่ปรากฎข้อมูลในปัจจุบันว่า ถ้าเป็นตนเอง จะตัดสินใจอย่างไร


คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง

ตามมาตรา 83-91 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 ผมสรุปที่มาของ ส.ส.ได้ว่า

ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

เมื่อผู้เลือกตั้งเข้าคูหาเลือกตั้ง มีบัตรให้ลงคะแนนเพียง 1 ใบ เพื่อเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ หากผู้สมัครในเขตนั้นไม่ได้สังกัดพรรคที่ตนเองนิยม ผู้เลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพราะมีเลขหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ " 1 ใบเลือกผู้สมัครที่รัก อีก 1 ใบเลือกพรรคที่ชอบ" ซึ่งเราคุ้นเคยมาเกือบ 20 ปีได้อีกแล้ว

เมื่อปิดคูหาเลือกตั้งแล้วรวมคะแนน ผู้มีคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส.

จากนั้น คะแนนในแต่ละ "เขตเลือกตั้ง" 350 เขตจะถูกนำมารวมกันทั้งประเทศ ประเทศไทยเสมือนเป็น 1 "มหาเขตเลือกตั้ง"

ใน "มหาเขตเลือกตั้ง" มี ส.ส.500 คน ขั้นแรก เอาคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'ทุกพรรคการเมือง' หารด้วย 500 สมมติผลลัพธ์เท่ากับ X จากนั้น เอา X ไปหารคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'แต่ละพรรคการเมือง' ได้ผลลัพธ์เท่าไร ถือว่าเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ จะเท่ากับร้อยละของคะแนนเลือกตั้งที่พรรคนั้นได้รวมกันทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับ 'บัตรดีที่ลงคะแนนเลือกตั้ง' ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ (ไม่รวมบัตรเสีย ไม่รวม No Vote)

เช่น พรรค "ก" ได้คะแนนรวม 20 % คิดเป็นได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 100 คน (20% ของ 500 คน) ไม่มากไปกว่านั้น

ถ้าพรรค "ก" ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต รวมแล้วได้ ส.ส.เขต 85 คน ดังนั้น พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 15 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน

ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่ไม่โดดเด่น แต่นโยบายพรรคเป็นที่พึงพอใจของประชาชน ทำให้ผู้สมัครในหลายเขตแพ้ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งเพียง 40 เขต พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 60 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน

ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่โดดเด่นมาก แต่นโยบายพรรคไม่โดนใจประชาชน ทำให้ผู้สมัครในทุกเขตชนะ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งถึง 105 เขต พรรค "ก" จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะเกิน 100 คนตามโควต้าของ "มหาเขตเลือกตั้ง" ไปแล้ว

ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึง เราต้องทิ้งความเคยชินเดิมๆ ไปให้หมดสิ้น ไม่มีอีกแล้ว..คะแนนเสียเปล่า เพราะทุกคะแนนมีความหมาย

ผลที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือ ผู้เคยสมัครแบบบัญชีรายชื่อในระบบเดิม แต่ยังได้รับความนิยมมากในเขตเลือกตั้ง เพราะตนเป็น "เจ้าของพื้นที่" มานาน ก่อนหน้านี้ เคยมอบหมายให้ญาติหรือทีมงานลงสมัคร ส.ส.เขต ส่วนตนเองขึ้นไปสมัครในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ เพราะถ้าชนะเลือกตั้งมากเท่ากับได้มา 2 ที่นั่ง

แต่ในระบบใหม่ เราอาจได้เห็นคนดังเจ้าของพื้นที่จำนวนหนึ่ง กลับคืนสู่เขตเลือกตั้ง เพราะโอกาสได้รับเลือกตั้งสูงกว่าแบบบัญชีรายชื่อตามระบบใหม่ซึ่งมีตัวแปรเพิ่มขึ้นที่ทำนายได้ยาก แม้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ อาจไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้


นายกฯคนนอก

ประเด็นร้อนแรงเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ คือ การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน "นายกฯคนนอก"

เมื่ออ่านมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 พบว่า เส้นทางของนายกฯคนนอก นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจนำไปสู่ "สุญญากาศทางการเมือง"

ใน 5 ปีแรกนับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 (ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ 4 ปี เวลา 5 ปีเท่ากับวาระของสภาผู้แทนฯอย่างน้อย 2 ชุด) การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในรัฐสภาที่มีสมาชิกรัฐสภา 750 คน (ส.ส. 500 คน และ ส.ว.250 คน)

นายกฯต้องได้รับความเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง ถ้าไม่มีใครได้คะแนนถึง จะเดินสู่ขั้นต่อไปคือ

สมาชิกฯอย่างน้อย 375 คนเสนอประธานรัฐสภา เพื่อขอให้จัดประชุมรัฐสภาพิจารณา "เปิดทาง" ให้เลือกนายกฯคนนอก

นายกฯคนนอกจะเข้ามาได้ต้องได้รับความเห็นชอบ "เปิดทาง"จากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 500 คน

หากทางสะดวกแล้ว คนนอกสามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกแข่งกับตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ได้ หากมีผู้ใดได้รับคะแนน 376 เสียงขึ้นไป ถือว่าได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น หาก ส.ส.หรือ ส.ว.อย่างน้อย 251 คนขึ้นไปไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก ประตู"นายกฯคนนอก" จะล็อคกุญแจแน่นหนา ใครก็เข้าไม่ได้

เมื่อนายกฯ คนนอกเข้าไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาจะกลับมาทบทวน เลือกนายกฯคนในอีกครั้งได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญฯไม่ได้บัญญัติไว้ หรือหากกลับมาเลือกใหม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครได้ถึง 376 เสียง คราวนี้แหละ สุญญากาศทางการเมืองอาจเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ถึงเวลานั้น มาคอยดูกันว่า ส.ส.จะช่วยกันผ่าทางตัน รวมเสียงกันให้ครบ 376 เสียง เลือกนายกฯคนในเสียที หรือจะให้ รัฐบาล คสช.บริหารประเทศไปพลางๆก่อน หรือจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่

โดยสรุป ถ้าพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอกอย่างแน่วแน่ (ซึ่งอาจมีหลายพรรค) ได้รับเลือกตั้งมารวมกันอย่างน้อย 251 คน ประตู "นายกฯคนนอก" จะถูกลั่นดาล ปิดไปตลอดกาล


การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์

การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting - SV) เป็นคำศัพท์การเลือกตั้งที่จะถูกพูดถึงมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ทันไร ก็มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่มาเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งในสมการการเมือง จนบางคนต้องตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคเดิมที่ชอบ หรือ เลือกพรรคใหม่ที่ใช่ เลือกแบบไหนจะสกัดนายกฯคนนอกได้ เลือกแบบไหนจะแสดงเจตจำนงประชาธิปไตย

SV เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันมานานแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีตัวอย่างรูปธรรมมากมาย จนถึงกับมีผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า กลยุทธ์เช่นนี้ใช้ในสถานการณ์แบบไหน ได้ผลจริงหรือไม่

กลยุทธ์นี้ ใช้ได้ทั้งในยุทธศาสตร์สร้างความหวัง (Hope) เช่น 'เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า' และยุทธศาสตร์สร้างความกลัว (Fear) เช่น 'ไม่เลือกเรา เขามาแน่' แต่การสร้างความกลัว เชื่อกันว่า ได้ผลมากกว่า

SV มักถูกใช้ในสถานการณ์ต่อไปนี้

1.การเลือกตั้งนั้นเป็นแบบผู้ชนะกินรวบ (Winner-takes-all) คะแนนที่ไปเลือกตั้งผู้แพ้ ไม่มีความหมาย ไม่ถูกเอามาคิดคำนวณผลเลือกตั้ง

2.มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 2 ราย และคู่แข่งขันอย่างน้อย 2 รายมีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกัน

3.ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะเลือกผู้สมัครที่ตนชอบมากที่สุด ซึ่งอยู่ลำดับที่ 3 หรือยอมตัดใจเลือกผู้สมัครที่ตนชอบน้อยกว่า เพื่อสกัดกั้นผู้สมัครที่ตนไม่ชอบเลย

จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า ในการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินรวบ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตกอยู่ในสถานการณ์ตามข้อ 2 และ 3 เพียง 20% (เพราะผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนผู้สมัครที่กำลังแข่งขันอย่างคู่คี่ ไม่ต้องตัดสินใจเลือก แต่ลงคะแนนให้คนที่ตนสนับสนุนไปเลย)

และการวิจัยพบต่อไปอีกว่า ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มีเพียง 20% ที่เมื่อไปลงคะแนนเสียงแล้วตัดใจเลือกตามกลยุทธ์ SV

การวิจัยชิ้นนั้น จึงสรุปว่า กลยุทธ์ SV ไม่ได้มีอิทธิพลมากอย่างที่เราเข้าใจกัน

เมื่อหันมาพิจารณา การเลือกตั้งครั้งหน้าที่เรารอคอยกันอยู่ ในภาพใหญ่ทั้งประเทศสถานการณ์ทั้ง 3 ข้อไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินแบ่ง ทุกคะแนนของผู้แพ้มีความหมาย สามารถสะสมมาใช้คำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีกทั้ง พรรคลำดับที่ 1 และ 2 ก็มีคะแนนนิยมทิ้งห่างกันพอสมควร แต่ในระดับเขตเลือกตั้งบางพื้นที่ สถานการณ์ข้อ 2 และ 3 อาจมีผลอยู่บ้างเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คณิตศาสตร์การเลือกตั้งก็ดี นายกฯคนนอกก็ดี การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ก็ดี จะไม่มีความหมายใดๆ เลย...ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น มาช่วยกันคิดก่อนดีกว่าว่า ทำอย่างไร การเลือกตั้งจึงจะมาถึงในเร็ววัน