ไม่พบผลการค้นหา
“ระบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด ในบรรดาวิศวกรรมการออกแบบสถาบันการเมืองทั้งหลาย มันส่งผลกระทบต่อระบบพรรคการเมือง องค์ประกอบของฝ่ายนิติบัญญัติ และความยั่งยืนของการจัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” Pippa Norris ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยกล่าวไว้

ไทยผ่านรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ รัฐประหาร 13 ครั้ง การเลือกตั้ง 24 ครั้ง โดยมีระบบเลือกตั้งอยู่เพียง 2 แบบหลัก คือ

1.ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา

2.ระบบผสมคู่ขนาน หรือ MMM ที่มี ส.ส. 2 แบบ เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ มีต้นกำเนิดจากรัฐธรรมนูญ 2540

ส่วนที่เกือบจะได้ใช้อีกแบบหนึ่งคือ MMP (แบบเยอรมนี) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ถูก สนช.โหวตคว่ำไป แล้วร่างใหม่เป็นระบบ จัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA แบบมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ก็ยังใช้แบบส.ส.เขต-ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ใช้บัตรใบเดียว เมื่อลองใช้ในการเลือกตั้ง 2562 ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า ‘ไม่เวิร์ค’ แม้แต่ผู้ครองอำนาจ จึงเกิดการแก้ไขระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญนี้

ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า กมธ.กฎหมายเลือกตั้งที่เถียงกันเรื่องการคำนวณคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ว่าจะ ‘หาร 100’ หรือ ‘หาร 500’ เป็นอันจบลงที่เสียงข้างมากโหวต 32 ต่อ 11 เสียง ให้ ‘หาร 100’ หรือคำนวนคะแนนแบบแยกบัตร 2 ใบออกจากกันโดยสิ้นเชิง หรือเป็นระบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540

ว่ากันว่า 11 เสียงที่ต่อต้านการกลับไปเป็นระบบคู่ขนาน ประกอบด้วย สมชัย ศรีสุทธิยากร จากสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย และนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรรคพลังธรรมใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 9 เสียง เป็นส.ว.ทั้งหมด

จากนี้ต้องไปว่ากันอีกทีในการแปรญัตติวาระ 2 และการโหวตวาระ 3 ในเดือนสองเดือนนี้

ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะผลักดันการคำนวณแบบ ‘หาร 500’ เพื่อหา ‘ส.ส.พึงมี’ ตามระบบเลือกตั้งแบบ MMP ถึงขนาดส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้รัฐสภาโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเขียนชัดว่า คำนวณบัตร 2 ใบแยกกัน สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง

ไอเดียเกี่ยวกับ ‘ส.ส.พึงมี’ หรือแบบ MMP เป็นผลลัพธ์ของข้อถกเถียงใหญ่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ไประยะหนึ่ง ซึ่งได้ ‘สร้างนายกฯ เข้มแข็ง’ สมดังเจตนารมณ์เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลครบวาระ 4 ปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง และยังกวาดที่นั่งแลนด์สไลด์ของจริงในสมัยที่ 2 เมื่อปี 2548 ระบบเลือกตั้งจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบบ winner takes all และมี ‘คะแนนตกน้ำ’ จำนวนมาก

ปัจจุบันเรากจะกลับไปใช้ระบบแยกบัตร 2 ใบ คำนวณแยกขาดจากกันอีก ซึ่งแน่นอน ผลเบี่ยงเบนในทางวิชาการได้ศึกษามาแล้วว่า เป็นคุณต่อพรรคขนาดใหญ่ และเป็นโทษต่อพรรคขนาดเล็ก แต่อะไรคือเหตุผลที่รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบมาอย่างนั้น นั่นก็เพราะตอบโจทย์การเมืองไทยที่ ‘ไม่เคยมีผู้นำ’ ยกเว้นผู้นำทหาร

‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 (ส.ส.ร.) เคยอธิบายเจตนารมณ์ของระบบเลือกตั้งที่ออกแบบไว้ว่า

“ประเทศเราไม่เคยมีผู้นำ มีการเลือกตั้งทีไร ไม่เคยมีผู้นำ เว้นแต่มียึดอำนาจ มีเผด็จการ ถ้ามีเผด็จการเมื่อไร จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นผู้นำ พอจอมพลถนอมปฏิวัติ จอมพลถนอมก็เป็นผู้นำ แต่พอมีเลือกตั้งทีไร ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นผู้นำ เป็นผู้ตาม เวลานี้ชวนก็เป็นผู้ตาม พลเอกชวลิตยิ่งตามเลย ตามอย่างไรครับ คือ ถ้าไม่ตามใจพรรคนี้มันก็จะไม่โหวตให้เราเป็นนายกฯ ถ้าไม่ตามใจพรรคนี้มันก็จะถอนตัว เราก็เป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเอาอะไรต้องตามใจไปไหมด ตกลงประเทศไทยไม่มีผู้นำหรอก มีแต่ผู้ตาม ลักษณของการเมืองไม่มีเสถียรภาพ มันจึงมีแต่ผู้ตาม ไม่เคยมีผู้นำ ไม่ตามม็อบก็ต้องตามพรรคเล็ก อย่างนี้เป็นต้น แล้วความเจริญในการบริหารจะมีได้อย่างไร....

ต่อไปนี้เราจะสร้างผู้นำ สร้างอย่างไรให้รัฐบาลไม่ต้องง้อพรรคเล็ก เพราะรัฐบาลเลือกตั้งแต่ละครั้ง เสียงกะรุ่งกะริ่งทุกดี เราก็เลยลอกเขาเลย ประเทศลักษณะอย่างนี้มีเยอะแยะ เป็นลักษณะรัฐบาลมีเสถียรภาพเยอะแยะ ... ระบบนี้คือระบบเดียวกับเรา คือ จากเดิมทีเลือกเป็น 3 เขต 3 คน เขาเลือกเขตเดียวคนเดียว แล้วก็มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ ระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นระบบเสริมเสถียรภาพ แล้วคลายความอึดอัดใจของประชาชนด้วย...”

‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานในรัฐธรรมนูญ 2540 เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไปดังนี้

2554 เกิดสภาพการเมืองแบบใหม่ ดังนี้

1.เกิดระบบสองพรรคใหญ่

2.การแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่ไม่ได้สูสี และยังไม่ได้สลับแพ้ชนะ

3.พรรคขนาดกลางและเล็กได้ที่นั่งน้อย และบทบาทต่ำ

4.เกิดปรากฏการณ์ภูมิภาคนิยม

5.การแข่งขันในพื้นที่ กทม.สูสี

6.ความตื่นตัวในการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูง

7.บทบาทการหาเสียงแบบเก่า ตระกูลการเมือง, อิทธิพล, การซื้อเสียง ลดลง คนตัดสินใจจากนโยบายพรรคมากขึ้น

ในข้อเฉพาะข้อ 1 การสร้างระบบ 2 พรรคนั้น เราเห็นได้ชัดจากสถิติเลือกตั้ง ดังนี้

เลือกตั้งปี 2544 สองพรรคใหญ่รวมกันได้ 376 ที่นั่ง (75.2%) คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 19 ล้าน (72.27%)

เลือกตั้งปี 2548 สองพรรคใหญ่รวมกันได้ 473 ที่นั่ง (94.6%) คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 26 ล้าน (93%)

เลือกตั้งปี 2550 สองพรรคใหญ่รวมกันได้ 398 ที่นั่ง (82.91%) คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 24 ล้าน (81.52%)

เลือกตั้งปี 2554 สองพรรคใหญ่รวมกันได้ 424 ที่นั่ง (84.8%) คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 27 ล้าน (83.56%)

จะเห็นได้ว่าหากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2538 ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2540 สองพรรคใหญ่รวมกัน (ชาติไทย-ประชาธิปัตย์) ได้ที่นั่งเพียง 45% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา

การรัฐประหาร 2 หน มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกันอีกหลายครั้ง เพื่อแก้ปมวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา ว่าด้วย ‘เผด็จการรัฐสภา’ จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบโดยคณะกรรมการร่างฯ ที่คสช.แต่งตั้งทั้งหมด ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งใหม่เป็นแบบ MMA ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ มี ส.ส.2 แบบแต่ใช้บัตร 1 ใบ ผลลัพธ์คือย้อนการเมืองกลับไปก่อนหน้าปี 2540 คือ

1.เกิดพรรคการเมืองในสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 27 พรรค

2.เป็นพรรค 1 ที่นั่งถึง 10 พรรค

3.เป็นพรรคที่ได้มากกว่า 50 ที่นั่งเพียง 5 พรรค

4.ได้รัฐบาลผสม มีพรรคร่วมมากถึง 19 พรรค

“ระบบเลือกตั้งแบบ MMA ที่ออกแบบมาในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็สร้างความสับสน คะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน เพราะบัตรใบเดียว แต่คะแนนถูกนับสองครั้ง (เขต-ปาร์ตี้ลิสต์) สร้างระบบที่ไม่ยุติธรรม ยิ่งพรรคได้ส.ส.เขตมาก ยิ่งได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลง ขณะที่บัตรเลือกั้งสองใบ ประชาชนมีสิทธิเต็มที่ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์อธิบายความเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า

1. เกิดระบบหลายพรรค ไม่ใช่ระบบพรรคใหญ่สองพรรคอีกต่อไป

2.มีเพียง 5 พรรคมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน

3.พรรคขนาดกลางและอันดับเล็กมีบทบาทสูง เป็นคีย์เมคเกอร์ เลือกฝ่ายไหนฝ่ายนั้นได้เป็นรัฐบาล จึงมีอำนาจต่อรองสูงในโควตารัฐมนตรี และนำการเมืองไปสู่รัฐบาลผสมหลายพรรค

4.การหาเสียงแบบเก่า ตระกูลการเมือง, การใช้อิทธิพล การซื้อเสียงที่เคยลดลงกลับมาใหม่

“ทางวิชาการเรียกว่า เป็นความพยายามเปลี่ยนจาก military authoritarianism ไปสู่ semi-authoritarianism (กึ่งเผด็จการ) หรืออาจเรียกว่า เป็น Controlled election ประชาธิปไตยที่ถูกควบคุม”

“มันทำให้เกิดระบบหลายพรรคที่กระจัดกระจาย พรรคไทยรักไทยเคยได้ 48-75% ขณะที่เพื่อไทยได้แค่ 23.4% ส่วน พปชร.พรรคอันดับสองก็ได้แค่ 27%” ประจักษ์กล่าว

ในอนาคต หากกฎหมายเลือกตั้งที่แก้ไขผ่านวาระ 3 เรียบร้อย ใช้บัตร 2 ใบและคำนวณคะแนนแบบแยกกันเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ถามว่าสถานการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนอดีตอีกหรือไม่ ? อย่างน้อยมีตัวแปรหลายอย่างที่ต้องพิจารณา

1. มีพรรคใหม่ที่มีจุดเด่นสร้างทางเลือกให้ประชาชน  

2. คนรุ่นใหม่มีจำนวนไม่น้อยและมีกระแสความคิดในเชิงอุดมการณ์มากขึ้น

3. นโยบายประชานิยม ‘พลังประชารัฐ’ ที่อัดฉีดงบประมาณไปจำนวนมากจะซื้อใจประชาชนได้เพียงไหน

4. 8 ปีของการคุมมหาดไทยและแขนขา จะสร้างความได้เปรียบเพียงไหน

5. แม้จะแก้กฎหมายเลือกตั้งให้มีบัตร 2 ใบ และคำนวณแยกขาดแบบรธน.ปี 2540 ได้ แต่บัตรทั้ง 2 ใบ ใช้คนละเบอร์ ไม่ใช่เบอร์เดียวกันเหมือนเดิม สร้างความยากลำบากในการหาเสียงและการจดจำของประชาชน

6. องค์กรอิสระซึ่งมีที่มาเกี่ยวพันกับ คสช.ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่น้อยก็มาก ยังคงอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้เสมอ

ฯลฯ