ไม่พบผลการค้นหา
ฟิเดล วัลเดซ รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ด้วยวัย 94 ปี ทั้งนี้ รามอสเป็นทั้งอดีตทหารสู้รบในสงครามเกาหลีและเวียดนาม และผู้รอดชีวิตในสังเวียนการเมืองฟิลิปปินส์มาอย่างโชกโชน ตั้งแต่การเป็นผู้บัญชาการตำรวจในช่วงการปกครองของเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จนกลับลำหักหลังมาร์กอสและโค่นล้มอดีตเผด็จการลงจากอำนาจ

รามอสกลายมาเป็นวีรบุรุษของชาวฟิลิปปินส์ จากการหักหลังรัฐบาลมาร์กอส เพื่อเข้าร่วมการโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการชื่อกระฉ่อนของประเทศ ภายใต้บทบาทการเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ในการนำกองกำลังตำรวจเข้าร่วมการโค่นล้มมาร์กอส จากการประท้วงของประชาชนในปี 2529 อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนที่ไม่ลืมและไม่ให้อภัยรามอส จากอำนาจของเขาภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกต่อประชาชนของระบอบมาร์กอส

รามอสมีภาพที่ถูกจดจำโดยประชาชน จากการที่เขาชอบถือซิการ์ที่ไม่ได้จุดไฟ เขาชนะการเลือกตั้งอย่างหวุดหวิดในปี 2535 และเข้ามาครองเก้าอี้ประธานาธิบดีของประเทศแทน คอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีหญิงจากพรรคพลังประชาชนของฟิลิปปินส์ ซึ่งเธอเองเป็นผู้นำในการโค่นล้มมาร์กอสลงจากอำนาจ

ถึงแม้รามอสจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนไม่ถึง 23% แต่ในเวลาต่อมา รามอสสามารถสร้างคะแนนนิยมของตนให้พุ่งสูงขึ้นมาถึง 66% โดยภาพของการเป็นประธานาธิบดีของรามอส ถูกจดจำในฐานะช่วงเวลาที่ฟิลิปปินส์มีสันติภาพ ความมั่นคง และการเจริญเติบโต

“ครอบครัวของเราแบ่งปันความเศร้าโศกในวันอันน่าโศกเศร้านี้กับประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เราไม่ได้เพียงแต่สูญเสียผู้นำที่ดีไป แต่เราได้สูญเสียสมาชิกของครอบครัวไปด้วย” เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน บุตรชายของอดีตเผด็จการมาร์กอส ออกแถลงการณ์ถึงการตายของรามอส ผู้มีส่วนร่วมในการโค่นล้มบิดาตนลงจากอำนาจ “มรดกของการเป็นประธานาธิบดีของเขาจะได้รับการเฉลิมฉลองเสมอ และประทับอยู่ในหัวใจของชาติอันยิ่งใหญ่ของเราตลอดไป”

รามอสหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อย่อว่า FVP เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารชื่อดังอย่างเวสต์พอยต์ของสหรัฐฯ เข้าเคยเข้ารบในสงครามเกาหลีเมื่อช่วงทศวรรษที่ 2490 ในตำแหน่งหัวหน้าหมวด ก่อนที่รามอสจะได้เข้ารบในสงครามเวียดนามอีกครั้งเมื่อราวทศวรรษที่ 2500

รามอสดำรงตำแหน่งทุกตำแหน่งในกองทัพฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ยศร้อยตรีไปจนถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด รามอสไม่เคยสูญเสียความเป็นทหารและความโอ้อวดส่วนตัว เขาอวดอ้างอยู่หลายครั้งว่า "ไม่มีงานง่ายสำหรับรามอส" ทั้งนี้ ภายใต้การนำของรามอสในช่วงเวลา 6 ปี ฟิลิปปินส์ได้เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ และเปลี่ยนผ่านนโยบายของประเทศไปสู่แนวทางเสรีนิยมมากยิ่งขึ้น

รามอสยังทำลายการผูกขาดระบบขนส่งและการสื่อสารในประเทศ ด้วยการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่รับรองมาจากรัฐสภาของประเทศ รามอสยังได้จัดการฟื้นฟูระบบไฟฟ้าของฟิลิปปินส์ ยุติปัญหาไฟดับของประเทศที่ประชาชนเคยเผชิญถึงขั้นไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง จนประเทศประสบกับภัยพิบัติทางพลังงาน

ภายใต้นโยบายวาระปฏิรูปสังคมของรามอส เขาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ให้รุดหน้าขึ้น อีกทั้งการลดอัตราความยากจนไปอยู่ที่ 31% จากเดิมที่ 39% อย่างไรก็ดี รามอสที่เดิมเคยรับราชการในกองทัพ และมีนโยบายในการรบต่อต้านกลุ่มฝ่ายขวา และฝ่ายซ้ายจัด ตลอดจนกองกำลังกบฏอิสลามในฟิลิปปินส์ ได้ปรับแนวทางความมั่นคงของตน หลังจากที่เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี รามอสได้จัดให้มีการเจรจาสันติภาพกับ “ศัตรูของรัฐ” รวมถึงกองกำลังต่อต้านที่พยายามโค้นล้มอำนาจของอากีโนลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีกว่าหลายสิบรอบ

รามอสลงนามในข้อตกลงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอิสลามแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรในปี 2539 และสามารถลดจำนวนนักรบกองโจรเหมาอิสต์ลงเหลือเพียงแค่ 5,400 คน จากเดิมที่เคยมีมากถึง 25,000 ในช่วงต้นปี 2529

รามอสยังเป็นผู้นำที่บ้างานและเป็นนักกีฬา เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชากองทัพ รามอสมักตีกอล์ฟ และวิ่งจ็อกกิ้งไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตามเก็บลูกกอล์ฟของเขา รามอสมักออกมาวิ่งจ็อกกิ้งในช่วงเช้าของทุกวัน จนกลายเป็นภาพจำและตำนานของเจ้าหน้าที่รอบตัวเขา จนเมื่ออายุ 80 ปี รามอสยังคงสามารถกระโดดเพื่อจำลองสถานการณ์ที่ตนเคยทำระหว่างการจลาจลในปี 2529 ด้วย


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/07/31/asia/philippine-former-president-fidel-ramos-dies-intl-hnk/index.html?fbclid=IwAR3YO8osKUgbSfEExVUHVq_7XahAoyYI7jDsPGYJQydsnqZgGXbhAbq7vvM