ไม่พบผลการค้นหา
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบเพื่อหารือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ขณะการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 5 ปี

บลิงเคนเข้าพบกับสี ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่ได้รับการคาดหวัง ว่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางเยือนจีน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในครั้งนี้ โดยสีได้กล่าวต่อบลิงเคนว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปฏิบัติตามความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างประธานาธิบดี (โจ) ไบเดนและผมที่บรรลุกันไว้ในบาหลี” เมื่อครั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีนได้พบปะหารือกันในการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย เมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน

ในการประชุมก่อนหน้านี้ระหว่างบลิงเคนและเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ทั้งสองฝ่ายแสดงความเต็มใจที่จะพูดคุยกัน แต่แสดงท่าทีเพียงเล็กน้อยที่จะยอมถอยจากจุดยืนที่แข็งกร้าว ในเรื่องความไม่ลงรอยกัน ตั้งแต่ประเด็นการค้า ไต้หวัน สิทธิมนุษยชนในจีนและฮ่องกง ไปจนถึงการขยายอำนาจทางทหารของจีนใน ทะเลจีนใต้ และสงครามของรัสเซียในยูเครน

สีกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายมีความคืบหน้าและบรรลุข้อตกลงใน “ประเด็นเฉพาะบางประเด็น” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม “นี่เป็นสิ่งที่ดีมาก” สีกล่าวย้ำ “ผมหวังว่าผ่านการเยือนครั้งนี้ ท่านรัฐมนตรี คุณจะมีส่วนสนับสนุนในเชิงบวกมากขึ้น ในการทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มีเสถียรภาพ” สีกล่าวเสริม

ก่อนหน้าการเข้าพบสีของบลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เข้าพบหารือกับ หวังอี้ นักการทูตอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีนเข้าสู่จุดที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หวังได้ระบุว่าความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่จนฝังรากลงลึกนั้น เกิดขึ้นจากภาพการรับรู้ที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนเอง

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า บลิงเคนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีช่องทางการสื่อสารแบบเปิดในหลายช่องทาง เพื่อการจัดการกับการแข่งขันกันระหว่างทั้งสองชาติมหาอำนาจ ตลอดการหารือเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงกับหวัง พร้อมระบุว่าบทสนทนาของบลิงเคนกับหวังนั้นมีความ “ออกดอกออกผล”

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) บลิงเคนได้พูดคุยนานกว่า 7 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งมากกว่าที่กำหนดการคาดไว้ 1 ชั่วโมง กับ ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การเจรจา ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารรับรองของรัฐอันหรูหรา และรวมถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำนั้น มีความ “ตรงไปตรงมา มีสาระสำคัญ และสร้างสรรค์” แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับข้อพิพาทที่รวมถึงประเด็นไต้หวัน การค้า สิทธิมนุษยชน และยาเฟนทานิล

ทั้งสองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติที่มั่นคง แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งจะระบุว่า ทั้งสองชาติยังคงมี "ความแตกต่างที่ลึกซึ้ง" ของพวกเขาก็ตาม และทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่า ฉินจะไปเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อสานต่อบทสนทนาที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของฉินก็ตาม

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าเบื้องหลังการประชุมแบบปิดนั้น ฉินระบุกับบลิงเคนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน “อยู่ในจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต” ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของรัฐบาลจีน ยังมีรายงานคำพูดของฉินที่กล่าวต่อบลิงเคนอีกว่า “สิ่งนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของชาติทั้งสอง และไม่เป็นไปตามความคาดหวังร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ”

หนังสือพิมพ์ The Global Times ของรัฐบาลจีน มีการลงบทบรรณาธิการเมื่อวันจันทร์ ถึงการเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนว่า "แม้จะมีความคาดหวังต่ำมากสำหรับความก้าวหน้าใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเยือนจีนของบลิงเคน แต่ก็ยังมีความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะรักษา 'บรรทัดฐานที่ต่ำที่สุด' ในความสัมพันธ์เอาไว้ได้”

ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าในวันหนึ่ง ทั้งสองชาติอาจเกิดการปะทะกันทางทหารเหนือเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นมณฑลหนึ่งของคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะการเข้ามาปะทะสังสรรค์ของสหรัฐฯ ในไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นความพยายามในการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของจีนเอง แม้จีนจะไม่เคยสามารถปกครองไต้หวันได้ก็ตาม

ก่อนการเจรจาในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มองเห็นโอกาสเพียงเล็กน้อย ที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะระงับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน และขัดขวางการไหลของสารโอปิออยด์ เฟนทานิลสังเคราะห์ที่อันตรายถึงตายและสารเคมีตั้งต้นจากจีนเข้ามายังสหรัฐฯ 

แต่เดิมทีแล้วบลิงเคนมีกำหนดการ ที่จะเดือนทางมาเยือนกรุงปักกิ่งในเดือน ก.พ. แต่กำหนดการดังกล่าวกลับถูกยกเลิกลงอย่างกะทันหัน ในขณะที่สหรัฐฯ ประท้วงต่อต้านเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นการใช้บอลลูนสอดแนมของจีนบินเหนือเขตแดนของสหรัฐฯ ก่อนที่สหรัฐฯ จะทำการยิงบอลลูนดังกล่าวตก แม้จีนจะอ้างว่าบอลลูนดังกล่าว เป็นบอลลูนสำรวจด้านภูมิอากาศของเอกชน ที่ร่อนออกนอกเส้นทางก็ตาม


ที่มา:

https://apnews.com/article/us-china-blinken-xi-biden-ce8bf13e5a02977a5291c001761ae0b3?fbclid=IwAR3535wPnxRNyAy3K_AtEEpQuYnCLlrLceg0MVjSASVqg6oFkfMUP6k_nbM

https://www.theguardian.com/world/2023/jun/19/antony-blinken-xi-jinping-beijing-china?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR2QHYtmg0JCa-Jag2B4CCy5fAIxRnHWZ0S04G8Imr_jdBe8lAEKdcqa3eY