ไม่พบผลการค้นหา
ทางการเยอรมนีระบุว่าจีนได้เรียกเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศจีนเข้าชี้แจง หลังจากที่ แอนนาเลนา แบร์บ็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เรียก สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ว่าเป็น “เผด็จการ” โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนกับเยอรมนี ที่ปะทุขึ้นในครั้งล่าสุด

แม้ว่าจีนกับเยอรมนีจะเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับเยอรมนีกลับถดถอยลง สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่บางส่วนของรัฐบาลเยอรมนี ใช้แนวทางที่มีความแข็งกร้าวมากขึ้นต่อจีน ในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไปจนถึงประเด็นเกาะไต้หวัน

แบร์บ็อก ซึ่งผลักดันให้ทางรัฐบาลเยอรมนีใช้แนวทางที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Fox News เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ โดยขณะการกล่าวถึงสงครามยูเครน แบร์บ็อกระบุว่า “หากปูตินชนะสงครามครั้งนี้ จะเกิดสัญญาณอะไรสำหรับเผด็จการคนอื่นๆ ในโลก อย่างสี อย่างประธานาธิบดีจีนหรือ ดังนั้น ยูเครนจึงต้องชนะสงครามครั้งนี้”

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน ให้การยืนยันกับสำนักข่าว AFP ว่า แพทริเซีย ฟลอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศจีน “ถูกเรียกตัวไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีน (เมื่อวันที่ 17 ก.ย.)” อันเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับคำพูดดังกล่าว ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี

การยืนยันถึงเหตุที่ทางการจีนเรียกตัวเอกอัครราชเยอรมนีเข้าพบเพื่อการชี้แจง เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการจีนออกมาระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ว่า ทางการจีนรู้สึก “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” กับคำพูดของแบร์บ็อก โดย เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวรายวันว่า “(ความคิดเห็นต่างๆ นั้น) ไร้สาระอย่างยิ่ง และเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีทางการเมืองของจีนอย่างร้ายแรง และเป็นการยั่วยุทางการเมืองอย่างเปิดเผย”

หลังจากการเรียกตัวเอกอัครราชทูตเยอรมนีเข้าพบโดยทางการจีนในครั้งนี้ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทางการจีนได้ตำหนิเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน หลังจากที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกประธานาธิบดีจีนว่าเป็น “เผด็จการ” เช่นกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับการประท้วงของจีน ต่อคำพูดของเธอระหว่างการเดินทางเยือนนครนิวยอร์ก แบร์บ็อกตอบกลับผู้สื่อข่าวเพียงว่า เธอ “รับทราบ” สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นแล้ว

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ถึงความคิดเห็นของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เกี่ยวกับคำพูดดังกล่าวของแบร์บ็อก แต่โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวเสริมว่า เป็นการชัดเจนอยู่แล้วว่า “จีนถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์แบบพรรคเดียว และชัดเจนว่าสิ่งนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยของเรา”

การเรียกตัวครั้งล่าสุดนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่จีนได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตเยอรมนีเข้าพบ โดยก่อนหน้านี้ ทางการจีนเรียกตัวเอกอัครราชทูตเยอรมนีเข้าพบ หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยอรมนีเดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเยือนไต้หวันโดยเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี ทั้งนี้ จีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตัวเองที่จีนจะเข้ายึดเกาะในสักวันหนึ่ง อีกทั้งจีนยังได้เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันที่ปกครองตนเองและเป็นประชาธิปไตยแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ทางการจีนยังเรียกตัวเอกอัครราชทูตเยอรมนีเข้าพบ สืบเนื่องจากคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศกลุ่ม G7 เกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม G7

เยอรมนีกำลังใช้แนวทางที่แข็งกร้าวขึ้นในการต่อต้านจีน และในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอมรนีได้เผยแพร่นโยบายใหม่ เพื่อการต่อต้านจีนที่มีการ “แสดงออก” มากขึ้น หลังจากการโต้เถียงภายในรัฐบาลผสมของเยอรมนี เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของเยอรมนีต่อจีนเป็นเวลาหลายเดือน โดยในคำแถลงนโยบาย รัฐบาลเยอรมนีผสมผสานการเรียกรัฐบาลจีนว่าเป็น “หุ้นส่วน คู่แข่ง คู่ปรับเชิงระบบ”

แบร์บ็อก ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของรัฐบาลผสมในเยอรมนีที่มาจากพรรคกรีน ได้เรียกร้องให้เยอรมนีมีจุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ในขณะที่โชลซ์  ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคโซเชียลเดโมแครต ได้สนับสนุนจุดยืนของเยอรมนีที่จะเป็นมิตรต่อการค้ากับจีนที่มากขึ้น

ยังมีความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นในรัฐบาลเยอรมนี เกี่ยวกับการลงทุนของจีนที่อาจมีความเสี่ยงในประเทศ และการพึ่งพาอย่างมากในการทำธุรกิจในจีนของธุรกิจเยอรมัน ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวยืนยันว่า ทางการเยอรมนีได้ขัดขวางการเข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพดาวเทียมของจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อการแข่งขันกับบริษัทสตาร์ลิงก์ ในประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลเยอรมนีได้ระงับการขายของผู้ผลิตชิป 2 รายให้กับนักลงทุนชาวจีน เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/sep/19/china-summons-german-ambassador-after-foreign-minister-calls-xi-jinping-dictator?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR0MQMblL1Mu6FjUs20DjQ0YODsp8L1iVkalEEDj52_AhRDsOuct_956JiI