ไม่พบผลการค้นหา
นโยบาย "ปฏิรูปกองทัพ" ของพรรคเพื่อไทย ที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ชูแนวคิด “หั่นงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์” เพื่อผันไปปั้น "เถ้าแก่ใหม่" ยกระดับเศรษฐกิจไทย กลายเป็นประเด็นร้อนก่อนเลือกตั้งขึ้นมาทันที

เมื่อ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ออกโรงเห็นแย้ง พลางแนะนำให้ผู้เสนอไปฟังเพลง "หนักแผ่นดิน" ก่อนถูกหนุนเสริมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกฯ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ด้วยการบอกว่า “ไปฟังเพลงตามที่ผบ.ทบ.บอกสิ” ก็ก่อให้สังคมเกิดข้อถกเถียงและเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า  

xx13.jpg

ทำไมพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายก่อนการเลือกตั้ง เพื่อขอ"ฉันทานุมัติ" จากประชาชนผู้เสียภาษี มุ่งหวังเข้าไปจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างเท่าเทียม เมื่อจัดตั้ง "รัฐบาลพลเรือน" ตามวิถีทางประชาธิปไตย  

จึงถูก "ผู้นำเหล่าทัพ" ภายใต้ "รัฐบาลทหาร" ที่มาจากการยึดอำนาจค้าน พร้อมตราหน้าว่า "หนักแผ่นดิน" ?  

เมื่อย้อนทบทวนงบประมาณกระทรวงกลาโหมนับจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็อาจทำให้พบคำตอบ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา งบกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่

  • ปี 2558 จำนวน 1.92 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.45 ของงบประมาณ 2.57 ล้านล้านบาท 
  • ปี 2559 จำนวน 2.06 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.57 ของงบประมาณ 2.72 ล้านล้านบาท 
  • ปี 2560 จำนวน 2.10 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.30 ของงบประมาณ 2.92 ล้านล้านบาท
  • ปี 2561 จำนวน 1.10 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.65 ของงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท
  • ปี 2562 จำนวน 1.06 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.64 ของงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท

รวม 5 ปี งบกระทรวงหลาโหมสูงแตะ 9 แสนล้านบาท! 

แต่ผลที่ได้รับคืนมากลับไม่ก่อให้เกิด “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับรายจ่ายประจำแก่กำลังพลประจำการกว่า 3.5 แสนคน จากทั้ง 3 เหล่าทัพ ผนวกกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น รถถัง VT-4 จากจีน 2 ระยะ รวมไม่น้อยกว่า 6 พันล้านบาท 

หรือที่ฮือฮามากที่สุด ก็หนีไม่พ้น เรือดำน้ำ Yuan Class S26T 3 ลำ รวม 3.6 หมื่นล้านบาท 

ทำให้เกิดการต้องข้อสังเกตอีกว่า ในโลกศตวรรษที่ 21 ยุทโธปกรณ์เต็มรูปแบบ อย่างรถถังหรือเรือดำน้ำนั้น สอดคล้องกับ “ภัยคุกคาม” (Threat) ร่วมสมัยที่ต้องเผชิญกับกลุ่มอาชญกรรมข้ามชาติ กลุ่มก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือไม่ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูมิรัฐศาสตร์”(Geopolitics) ของประเทศไทย ความสงบเรียบร้อยรอยต่อบริเวณพรหมแดน ไม่พบปัญหาในแง่การรุกรานจากเพื่อนบ้าน การค้าชายแดน (Border Trade) ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง "สนามรบ" ไม่มีทีท่าจะเกิดขึ้น ทว่า "สนามการค้า" ต่างหากที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ  

ประยุทธ์ กองทัพ 00_Hkg10100237.jpg

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ คุณหญิงสุดารัตน์ พุ่งเป้าไปยังหัวใจสำคัญคือ การตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกกับการนำเม็ดเงินมาส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างเถ้าแก่ใหม่ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า สร้างรายได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย อัดฉีดสวัสดิการรากหญ้าคนส่วนใหญ่ ให้มีกำลังจับจ่ายใช้สอย แก้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย เป็นรวยกระจาย จนกระจุยแทนจากปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง

ขณะเดียวกัน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ยังเสนอให้เปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหาร มาใช้ระบบสมัครใจ ลดกำลังพลที่เกินความจำเป็น มุ่งหน้าสู่การสร้างทหารอาชีพตามโลกร่วมสมัย ให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 


"ดิฉันจะขอยืนยันในความถูกต้อง ที่ได้เสนอขอปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส กับปัญหาปากท้อง และในเวลานี้ยังไม่ปรากฏภัยคุกคามทางความมั่นคงของประเทศ ถึงขั้นจะต้องใช้กำลังคนและ อาวุธยุทโธปกรณ์มากไปกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน" คุณหญิงสุดารัตน์ยืนกรานหนักแน่น


สุดารัตน์

ไม่เพียงแต่ “ทัพหลวงฝ่ายประชาธิปไตย” ในศึกเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึง บรรดาพรรคการเมืองซีกประชาธิปไตย ยังนำเสนอแนวนโยบาย "ปฏิรูปกองทัพ" เพื่อขอเสียงเห็นชอบจากประชาชนกันอย่างกว้างขวาง หวังเข้ามาสะสางวงจรอุบาทว์จากการทำรัฐประหารของกองทัพ ที่เกิดขึ้นแล้ว 13 ครั้ง ในรอบ 87 ปี 

อย่าง พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผบ.ตร. ก็ตรงไปตรงมาตามแบบฉบับ "วีรบุรุษนาแก" โดยตั้งต้นจากต้นตอของปัญหาที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่แก้ไขล่าสุดเมื่อการรัฐประหาร 2549 โดยให้อำนาจ “ผู้นำเหล่าทัพอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน” ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้ตัวแทนของประชาชนเป็นใหญ่ 

ต่อด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยมีเป้าหมายให้กองทัพมีขนาดเล็กลง แต่ทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลายส่วนไม่มีความจำเป็น ต่อสภาพแวดล้อมที่ไร้วี่แววของสงคราม 

เช่นเดียวกับกำลังพล ต้องพุ่งเป้าไปที่การลดนายพล ที่มากล้นเกินจากความจำเป็นของภาระงาน สุดท้ายที่เรียกเสียงตอบรับจากแฟนคลับมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ข้อเสนอ “ย้ายค่ายทหารออกจากกรุงเทพฯ” ปิดช่องการเคลื่อนกำลังยึดสถานที่สำคัญก่อนการรัฐประหาร พร้อมเปลี่ยนที่ดินหลายหมื่นไร่ ให้กลายเป็นสาธารณะสมบัติสร้างประโยชน์ให้สังคม 

เลือกตั้ง เสรีพิศุทธ์ พรรคเสรีรวมไทย

สำหรับ พรรคอนาคตใหม่ “กองหน้าฝ่ายประชาธิปไตย” ก็เปิดเผยนโยบายปฏิรูปกองทัพออกมาอย่างเป็นระบบ พุ่งเป้าไปยังโครงสร้าง เลิกแก้ปัญหารายประเด็น โดยมี พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค อดีตเลขาฯ สมช. เป็นมันสมอง 

เริ่มจากเป้าหมายคือ การสร้าง "กองทัพแบบศตวรรษที่ 21" โดยใช้ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแทนกำลังพลจำนวนมาก จึงต้องลดกำลังพลจาก 330,000 นาย เหลือ 170,000 นาย ส่วนนายพลจะลดลง 4 เท่าตัว จาก 1,600 นาย เหลือ 400 นาย พร้อมยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบปัจจุบัน ยกเลิกการเรียน ร.ด. หันมาใช้ระบบอาสามัครแบบ สหรัฐฯหรือยุโรป ให้ทหารมีความชำนาญ ผ่านการฝึกอย่างเข้มข้น และใช้การฝึกนี้ให้เกิดความมีมาตรฐานเดียวกัน ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย ด้านประเพณีทหาร จะต้องไม่เห็นทหาร “อำพรางยศ-อำพรางชื่อ-อำพรางสังกัด” วิ่งไปวิ่งมาอยู่ทั่วอีก 

อนาคตใหม่.jpg

สำหรับการซื้ออาวุธต้องเปิดเผยหมด ทำให้โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะว่าอาวุธต่างๆ ที่ซื้อขายในโลกไม่ใช่ความลับ มันเปิดเผยได้ ไม่ต้องซื้อของแพง ไม่ต้องซื้อของด้อยคุณภาพ ไม่ต้องซื้อของที่ไม่มีใครใช้ 

สำคัญที่สุดคือ ต้องให้กองทัพถอนตัวออกจากการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการกลับกรมกอง เลิกเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ คณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งจะมาควบคุมประชาชน จึงต้องเลิกระบบอุปถัมภ์ภายในกองทัพ ปรับเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งโยกย้ายโดยเฉพาะระดับนายพล โดยให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบรับรองในขั้นสุดท้าย  


ภาพรวมของนโยบายปฏิรูปกองทัพ จากทั้ง “3 เหล่าพรรค” ฝ่ายประชาธิปไตย ต่างมุ่งหวังพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า สามารถเชิดหน้าชูตาต่อประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการเริ่มต้นจากการยับยั้งอุปสรรคของการเมืองไทย ทำให้การรัฐประหารกลายเป็นเพียง “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” ใช้ระบบรัฐสภาตามวิถีทางประชาธิปไตยแก้ปัญหา พร้อมแปรสภาพให้กองทัพทรงประสิทธิภาพ และมีสมรรถนะเพิ่มสูงขึ้น ผ่านการทำให้เป็น "ทหารอาชีพ" ไม่ใช่ "ทหารการเมือง"


อภิรัชต์ กองทัพ ทหาร สวนสนาม

ไม่ใช่เรื่องของการเป็นตัวถ่วง ยุยุงปลุกปั่นให้คนในสังคมเกลียดชังแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหมือนครั้งที่กองทัพเคยใช้เพลงนี้ผ่าน ปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ในยุคสงครามเย็น เมื่อ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชวนเชื่อจนส่งผลให้มีการนองเลือด คนไทยเฆ่นฆ่ากันเอง เพียงเพราะเห็นต่างกัน 

ตามที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. วิเคราะห์ ว่า “การหยิบยกเพลงหนักแผ่นดินนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า บรรยากาศของบ้านเมืองจะจบเหมือนวันที่ 6 ตุลา 2519 หรือไม่ ที่เรียกกันว่า เป็นปฏิบัติการขวาพิฆาตซ้าย”

ทว่าสุดท้ายแล้ว สังคมไทยจะเป็นผู้ให้คำตอบอย่าง “สันติวิธี” ในการเข้าคูหา วันที่ 24 มี.ค. 2562 ถ้า “ประชาชนทั้งแผ่นดิน” เห็นพ้อง กองทัพก็ถอยออกไปจากการเมืองและควรต้องน้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากฉันทามติของประชาชน!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :