ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินหน้าสอบโครงการผันน้ำยวมแสนล้าน ชาวบ้านร้องทบทวนอีไอเอร้านลาบ-ลงทุนไม่คุ้มประโยชน์

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 วันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าได้รับหนังสือด่วนที่สุด จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอบกลับเรื่องที่ตนเองในฐานะเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กรณีกรมชลประทานดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยไม่โปร่งใส และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความบกพร่อง 

“สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระบุในหนังสือว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาแล้ว เป็นหนังสือร้องเรียนเลขดำที่ 1234/2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้พวกเราชาวแม่งูด และชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบที่อาศัยในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน เรามีความหวังว่าจะเกิดการตรวจสอบอย่างจริง พวกเรากังวลใจมากเพราะที่ผ่านมากรมชลประทานไม่รับฟังความกังวลของชาวบ้านอย่างแท้จริง เราทักท้วงมาตลอด แต่เขาก็เดินหน้าโดยเพิกเฉยต่อสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วม ในโครงการที่ใหญ่และแพงขนาดแสนล้านบาท” ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าว และว่าทราบว่ามีการทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) แล้วพบว่าค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท

ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดยังกล่าวอีกว่าในหนังสือที่ได้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นชาวบ้านได้ระบุชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งยังขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากชุมชนและยังมีข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจนถูกเรียกว่าอีไอเอร้านลาบ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม ประกอบด้วย (1) เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยวม ตั้งอยู่บนแม่น้ำยวม ใน ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ปริมาตรเก็บกักปกติ 68.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรเก็บกักใช้งาน 13.95 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่น ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าอมก๋อย และป่าท่าสองยาง (2) สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา จ.แม่ฮ่องสอน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง (3) ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้ภูเขา ระยะทาง 61.52 กิโลเมตร จากอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไปยัง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ และอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งเป็นอุโมงค์ดาดคอนกรีต คาดว่าจะสามารถผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพลเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร (4) พื้นที่ จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ (DA) จำนวน 6 พื้นที่ (5) ถนน ปรับปรุงถนนเดิมและเป็นการก่อสร้างถนนใหม่ เพื่อเข้าสู่เขื่อนน้ำยวม สถานีสูบน้ำ อุโมงค์เข้า-ออก พื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ฯลฯ ทั้งหมด 8 เส้นทาง (6) ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำ น้ำผันจากอุโมงค์ส่งน้ำจะไหลลงห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล