เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน และประชาชนที่มีภูมิลำเนาและที่ทำกินใน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน รวม 66 คน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้พิพากษาว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผู้ถูฟ้อง 5 ราย ประกอบด้วย กรมชลประทาน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ขณะที่ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้แก่ น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า นายธรธรร การมั่งมี น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความเครือข่าย และนักกฎหมาย ของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดี
เหตุผลในการฟ้องระบุว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และอีไอเอที่รู้จักในชื่ออีไอเอร้านลาบ ซึ่งระบุว่ามีองค์ประกอบของโครงการ 7 องค์ประกอบคือ เขื่อนผันน้ำยวม ถนนเข้าเขื่อน อ่างเก็บน้ำยวม สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ (62 กม.) พื้นที่เก็บกองวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์และถนนเข้าหัวงานต่างๆ ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำและการปรับปรุงลำห้วยงูด โดยมีพื้นที่โครงการรวม 3,641 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน ซี(C)) มีพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยหมู่บ้านและรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการตามที่อ้างใน EIA ครอบคลุมพื้นที่ 36 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ 29 ราย
ผู้ฟ้องคดีขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษา ดังนี้ 1 ขอให้พิพากษาว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเกี่ยวกับโครงการเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอน/ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย
2 ขอให้พิพากษาว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนรายงานและการให้ความเห็นชอบดังกล่าวเสีย
3 ขอให้พิพากษาว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวเสีย
4 ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและจริงจัง จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการและระหว่างดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการดูแล ปกป้อง รักษาแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน
5 ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ดำเนินการออกกฎหมาย หรือกฎ หรือระเบียบ เพื่อดำเนินการการคุ้มครอง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในลุ่มแม่น้ำแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน
ทั้งนี้เมื่อทนายและผู้แทนคดีได้ยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้วแล้ว ศาลปกครองได้รับเป็นคดีหมายเลย ส.44/2566 และศาลจะพิจารณารับฟ้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศที่ศาลปกครองเป็นไปอย่างคึกคัก มีชาวบ้านจากพื้นที่ 3 จังหวัดเดินทางมาร่วมยื่นฟ้องราว 70 คน โดยต่างสวมชุดชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าทุกวันนี้ในฤดูฝนน้ำจากเขื่อนภูมิพลก็เอ่อท่วมอยู่แล้ว ตอนที่นักวิชาการเข้ามาจัดทำอีไอเอ จัดประชุมกลุ่มย่อย ได้บอกเรื่องค่าชดเชย แต่ชาวบ้านบอกชัดเจนว่าเราไม่เอาไม่ต้องการค่าชดเชยใดๆ ต้องการให้ยุติโครงการผันน้ำ เพื่อให้ได้มีชีวิตปกติสุข ให้สิทธิชุมชนได้รับการปกป้อง
“เราชาวแม่งูด อ.ฮอด อยากฟ้องมานานแล้ว เรามากันกว่า 50 คนจาก ต.นาคอเรือวันนี้ เหมารถเมล์นั่งมาแต่เช้ามืด จุดหมายเดียวคือไม่เอาโครงการผันน้ำ เมื่อคืนนี้ก่อนออกเดินทางเราก็ได้ทำพิธีกรรมเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ให้คุ้มครองเรา แม่น้ำของเรา ผืนป่าของเรา” ผู้ใหญ่บ้าน 1 ในผู้ฟ้องคดีกล่าว
ดาวพระศุกร์ มึปอย ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่ารู้สึกกังวลกับโครงการผันน้ำยวม ว่าหากเกิดขึ้นจริงหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบเสียหาย ชาวบ้านทำมาหากินยาก
“เสียใจมากที่เห็นรูปของตัวเองถูกเอามาใช้ผิดๆ แบบนี้ในอีไอเอ เขาแค่มาเอาของมาแจกแล้วขอถ่ายรูปเซลฟี่ แต่กลับนำรูปไปลงในอีไอเอ ใส่ข้อมูลผิดๆ ทำแบบนี้ถูกต้องได้อย่างไร” นางดาวพระศุกร์กล่าว
สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่าที่ผ่านมาเราถูกกระทำมาโดยตลอด เหมือนเขาข่มขู่ ใส่ร้ายป้ายสี วันนี้เราลุกขึ้นปกป้องศักดิ์ศรีของเรา หากชุมชนไม่ลุกขึ้นเปิดเผยความจริงก็คงถูกเหยียบย่ำไปตลอด
“ผมทำงานในลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน มาเกือบ 30 ปี แต่กลับมีหน่วยงานมาเอารูปของผมไปใช้ผิดๆ ในรายงาน EIA ข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และเมื่อพวกเรา 3 จังหวัดมาดูเอกสารร่วมกันโดยละเอียดกับทีมกฎหมาย ก็พบว่าเป็นแบบนี้ทุกพื้นที่ การฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ผมไม่คิดว่าจะแพ้หรือชนะ แต่ความจริงต้องถูกเปิดเผย เราสู้ลำพังไม่ได้ ต้องร่วมกัน พี่น้องที่บ้านยังมีอีกมาก อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล” สะท้านกล่าว
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าตลอดเวลา 7 ปีที่กรมชลประทานผลักดันโครงการนี้ ชาวบ้านได้ส่งหนังสือเพื่อทักท้วงถึงข้อมูลที่ไม่เป็นจริงในรายงานอีไอเอขั้นตอนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนแล้ว แต่หน่วยงานกลับไม่หยุด ไม่ฟังข้อท้วงติงใดๆ วันนี้จึงจำเป็นต้องรวมตัวกันมาฟ้องต่อศาลปกครอง และจะมีการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว เราไม่ควรให้หน่วยงานต้องปรับการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ไม่ละเลยชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และคาดหวังว่าศาลจะพิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงกว้างขวางข้ามจังหวัด ข้ามลุ่มน้ำ ใช้งบประมาณแผ่นดินกว่า 2 แสนล้านบาท ไม่สามารถเร่งรีบได้
“กรมชลประทานต้องนำข้อมูลโครงการวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 เพราะมีข้อมูลที่สำคัญโดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน” หาญณรงค์กล่าว