ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกพรรคก้าวไกล จวกภาครัฐดัน ‘เรียนออนไลน์’ เป็นการปัดความรับผิดชอบแนะเรียนออนไลน์ควรเป็นทางเลือกสำรอง พร้อมชง 12 ทางออก เปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกหลัก เสริมความปลอดภัยสู้โควิด-19

น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกลและคณะทำงานด้านการศึกษาพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกในการเรียนออนไลน์ ซึ่งจากการติดตามพบว่า https://www.dltv.ac.th/ ล่มไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งแนวทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า แนวทางที่ออกมาดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลมากกว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย ซึ่งตนขอเห็นแย้งและเสนอว่า แนวทางที่ควรเป็นคือการเปิดเทอมให้ได้เร็วที่สุด โดยเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้

"เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงภาวะปกติได้โดยเร็ว"

โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า การไม่ให้เด็กไปโรงเรียนไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการผลักปัญหาออกจากความรับผิดชอบของโรงเรียนและภาครัฐ เพราะเมื่อต้องอยู่ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้เช่นกันว่า เด็กๆ จะไม่ออกไปรวมกลุ่มกันเองในช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำงาน 

“การเรียนออนไลน์ควรเป็นแค่ทางเลือกหรือทางออกสำรองในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีระดับต่ำมาก มีการติดเชื้อในระดับหลักหน่วยต่อเนื่องกันมากว่าครึ่งเดือนและมีการติดเชื้อเป็น 0 ในบางวัน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลดต่ำลงเรื่อยๆ และมีอัตราการรักษาหายสูง ดังนั้น การเปิดเรียนในโรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้และจะสามารถช่วยอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อีกระดับด้วย”

น.ส.สุทธวรรณ เสนอทางออกและข้อเสนอ ควรเปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกหลัก และเชื่อว่าในวันที่ 1 มิ.ย. จะสามารถเปิดเรียนได้ หากตั้งใจจริงและทำตามมาตรการ 12 ข้อ ของพรรคก้าวไกล ดังนี้

1) มาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การมีจุดล้างมือหน้าโรงเรียน

2) การงดกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธง หรือกิจกรรมการนำเอาเด็กมารวมกลุ่มกัน เช่น วิชาลูกเสือ เป็นต้น

3) มีการจัดเวรทำความสะอาด เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น โต๊ะเรียน พื้นที่ที่มือสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวบันได ราวระเบียง ลูกบิดประตู ขอบประตู ขอบหน้าต่าง ฯลฯ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน

4) การจัดโต๊ะเรียนให้อยู่ห่างกัน หากยังมีระยะห่างกันไม่มากพอ ก็อาจจะทำอุปกรณ์ฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน ซึ่งฉากกั้นนี้ นอกจากจะเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่คอยเตือนใจให้นักเรียนเว้นระยะห่างกัน ได้ดีอีกด้วย

5) กำหนดกติกาต่างๆ ให้กับนักเรียนทราบ เช่น การใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียน การเล่นกับเพื่อนในช่วงพักกลางวัน การรณรงค์การเว้นระยะห่างระหว่างกันภายในโรงเรียน การกำหนดจุดยืนเข้าคิวที่มีการมาร์คจุดให้ยืนห่างๆ กัน ภายในโรงเรียน การไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน การรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง ฯลฯ ซึ่งถ้ามองในเชิงบวก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ สร้างนิสัยใหม่ เพื่อสุขอนามัยที่ดี และจะดีมากยิ่งขึ้น ถ้าเด็กได้นำเอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้กับคนในครอบครัว และประยุกต์ใช้ที่บ้าน

6. ปรับรูปแบบการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน งดการนำเด็กมารวมกลุ่ม

7. จัดคาบเรียน เพื่อลดการเวียนสอนของครู เพื่อป้องกันไม่ให้ครูมีการเวียนพบปะกับเด็กจำนวนหลายห้อง เพื่อลดความเสี่ยง

8. การจัดทำจุดอ่างล้างมือบริเวณหน้าห้องเรียน ที่มีจำนวนจุดที่มากเพียงพอในระดับหนึ่ง และวางกติกาให้นักเรียนทยอยกันออกมาล้างมือด้วยสบู่ ก่อนเริ่มเรียนคาบต่อไปทุกครั้ง เพื่อให้การล้างมือเป็นนิสัยใหม่ของเด็ก

9. มีมาตรการในการตรวจคัดกรองครูด้วยเช่นกัน มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นระยะๆ ขอความร่วมมือจากครูไม่ให้ไปในที่มีมวลชนหนาแน่น หากพบว่าครูป่วย ให้ตรวจวินิจฉัยทันที และให้กลับมาสอนเมื่อหายดีแล้วเท่านั้น

10. หากพบว่าเด็กคนใดป่วย ควรให้เด็กคนนั้นพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย และให้ครูประสานกับผู้ปกครองเพื่อติดตามอาการ และสนับสนุนให้มีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากพบว่ามีอาการต้องสงสัย และจะอนุญาตให้กลับมาเรียนได้ก็ต่อเมื่อหายดี

11. ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ว่าพยายามให้เด็กเว้นระยะห่างจากปู่ย่าตายาย หรือผู้สูงอายุภายในบ้าน และงดที่จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน

12. เด็กทุกคน จะต้องมีรายงานกลับมาส่งครูทุกวัน (เด็กเล็กให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้กรอก) เหมือนกับสมุดจดการบ้าน เพื่อรายงานว่าที่บ้านมีผู้ป่วยหรือไม่ หรือมีบุคคลภายนอกมาพักอาศัยรวมกันหรือไม่ หากพบว่าที่บ้านของนักเรียนมีผู้ป่วย ให้ครูประสานแจ้ง อสม. ในเบื้องต้นไว้ก่อน