ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน ร่วมอ่านกวีจิตวิญญาแห่งคนลุ่มน้ำโขง แสดงออกถึงการคัดค้านไม่เอาเขื่อนปากแบง

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน ร่วมอ่านกวี “จิตวิญญาแห่งคนลุ่มน้ำโขง” งานฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านไม่เอาเขื่อนปากแบง และมองว่ารัฐและทุนต้องยุติการเดินหน้านโยบายการจัดการน้ำที่ผิดพลาด ควรทบทวนบทเรียนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ตลอดจนนำเสนอการจัดการน้ำระดับชุมชนคือทางออก 

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก กรรมการเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงภาคอีสาน กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรม งานฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อหนุนเสริมในประเด็นการปกป้องแม่น้ำโขงจากรัฐและทุนที่มีนโยบายจะสร้างเขื่อนปากแบง ทั้ง ๆ ที่บทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาของภาคอีสาน โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูน คือบทเรียนการจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ เพราะแม่น้ำทุกสายควรมีอิสระในการไหลผ่านขอบเขตของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด

ไม่ใช่จะมากำหนดนโยบายหรือการวางแผนโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เหมือนโครงการในพื้นที่ภาคอีสานที่จะมีโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน ที่จะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าของการลงทุน ประกอบกับข้อเสนอทางเลือกการจัดการน้ำ รัฐต้องฟังเสียงภาคประชาชนจริง ๆ โดยเฉพาะการจัดการน้ำระดับครัวเรือนที่ชาวบ้านเข้าไปจัดการเอง ดูแลเอง รักษาเอง รัฐจะต้องสนับสนุนภาคประชาชน ซึ่งระบบนิเวศของแม่น้ำโขงมีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยว และการประมงพื้นบ้าน หากมีเขื่อนเกิดขึ้น จะทำให้ระบบนิเวศเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในลุ่มน้ำโขง

อภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนปากแบงจะทำให้ปริมาณน้ำเอ่อท่วมแก่งผาได และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในหลายด้าน โดยเฉพาะ 1. ด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น เกษตรกรที่ทำสวนส้มโอ เนื่องจากส้มโอเป็นพืชที่ไม่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังเป็นเวลานานได้ 2. ด้านการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลง 3. ด้านการประมง เนื่องจากปลาไม่มีที่วางไข่ ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดลง ส่งผลให้ชาวประมงหาปลาได้ยากขึ้น

ด้านมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ชี้ให้เห็นว่ารัฐมองแก่งเป็นเพียงหินโสโครกที่ไม่มีความสำคัญ แต่ความหลากหลายของระบบนิเวศแม่น้ำโขงมีความสำคัญและยึดโยงกับสิ่งมีชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบนิเวศทุกอย่างมีความเชื่อมโยงและมีความสำคัญในการพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต อาทิ ต้นไคร้น้ำ อาศัยซอกหิน และตะกอนดินในการยึดเกาะ ในฤดูน้ำหลากเป็นที่วางไข่และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อน จะเป็นการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง เนื่องจากปริมาณน้ำเอ่อท่วมเกาะแก่ง และทำให้ต้นไคร้หายไป ทั้งชาวประมงจะไม่สามารถจับชีพจรน้ำได้ตามปกติ เพราะปริมาณน้ำขึ้น-ลงไม่คงที่ 

ในขณะเดียวกัน ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาลงพื้นที่จุดที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบง ซึ่งผมมองว่า “เราจำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ ในเมื่อตอนนี้มีโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นอยู่แล้ว” ซึ่งต้องมีการทบทวนกรณีการสร้างเขื่อนเพราะอาจจะก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการนำพลังงานมาใช้เพียงแค่ไม่กี่เมกะวัตต์

รัฐไม่ควรจะทุ่มงบประมาณไปกับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ควรจะส่งเสริมพลังงานสะอาดโซลาร์เซลระดับครัวเรือนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มทุนต่อประชาชนในประเทศไทย และสุดท้ายเราจะพยายามผลักดันในชั้นของกรรมาธิการและรัฐสภาเพื่อการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างพลังงานไฟฟ้า ไม่ให้มีการผูกขาดระบบพลังงานของกลุ่มทุน

หลังจากนั้นเครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้อ่านกวี “จิตวิญญาณแห่งคนลุ่มน้ำโขง” ที่มีเนื้อหาดังนี้

“๐-จิตวิญญาณคูนค้ำลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เกิดจนตายไม่สิ้นสูญ

ทุกอณูเลือดเนื้อล้วนเกื้อกูล ความสมบูรณ์มั่งมีแห่งชีวิต

มีใครบ้างชังผืนดินเกลียดถิ่นฐาน เนิ่นยาวนานทุกขณะแนบสนิท

ที่ดินน้ำลมไฟล้วนใกล้ชิด เนรมิตดอกช่อถักทอรวง

ที่รกรากหยัดหยั่งอย่างมั่นคง เป็นป่าดงดาลดลทุกหนห้วง

เป็นทุ่งไร่ท้องนาประดาปวง เป็นผลพวงผักหญ้าปลาและเกลือ

มีใครบ้างไม่ทักท้วงไม่หวงแหน ต่อดินแดนแสนคุ้นอันอุ่นเอื้อ

ต่อสายน้ำเนื่องหนุนเฝ้าจุนเจือ หากวันหนึ่งเป็นไปเพื่อเกื้อเหล่าทุน

มือต่อมือคูนค้ำโอบอุ้มลุ่มน้ำโขง ใจต่อใจแผ่ผายเป็นไฟอุ่น

รักถนอมพื้นถิ่นดินการุณย์ ท่ามโลกหมุนทุนสามานย์-ไม่ครั่นคร้าม!

เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ มอบแด่-จิตวิญญาณการต่อสู้ของพี่น้องลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน”