องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE รายงานว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งมีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ได้ระบาดมายังยุโรปและเอเชีย โดยในเอเชีย เริ่มพบที่ประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ในปีถัดมาได้ลุกลามไปยังมองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีใต้ ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปี 2563 พบที่ปาปัวนิวกินี อินเดีย
ปลายปี 2563 ในประเทศไทย เริ่มมีรายงานในหลายจังหวัดว่าหมูล้มตายจำนวนมาก แต่ในช่วงนั้นข่าวสารยังคงเป็นเรื่องการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร(PRRS) ขณะที่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย
โรค PRRS เป็นโรคที่เกษตรกรรู้จักอยู่แล้ว มีวัคซีนและมียารักษา ขณะที่โรค ASF นั้นยังไม่มีวัคซีนและยารักษา จนย่างเข้าสู่ปี 2564 จำนวนหมูที่ล้มตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลยังคงยืนกรานว่าประเทศไม่มีการระบาดของโรค ASF
“ก่อนที่จะที่หมูภายในเล้าจะตายได้มีอาการเป็นผื่นแดง ไข้ขึ้นสูง ประมาณ 4-5 วันจะไม่กินอาหาร กินน้ำเพียงเล็กน้อย ก่อนตายจะมีตุ่มสีม่วงขึ้นตามใบหู ขอบตา เลือดออกตามปาก จมูก จึงได้แจ้งให้ปศุสัตว์อำเภอน้ำพองเข้ามาตรวจสอบ โดยได้นำเลือดของแม่พันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปตรวจหาเชื้อในห้องแลป เมื่อผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ได้เข้าไปสอบถามยังที่ทำการปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า หมูภายในเล้าไม่ได้เป็นโรคที่เข้าข่ายในการชดเชยของปศุสัตว์จึงไม่ได้รับการชดเชย จึงถามว่าแล้วหมูติดเชื้ออะไรถึงตาย ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เมื่อไม่เป็นเชื้อตามที่ปศุสัตว์แจ้ง 2 โรคก็จะไม่มีการตรวจหาเชื้ออีก สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก” นายจักราวุธ โขพิมพ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเดือนส.ค.2564
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุเมื่อปลายปี 2564 ว่า หมูไทยมีปริมาณลดลงประมาณ 15% หรือ 3 ล้านตัว ขณะที่นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ปริมาณผลผลิตหมูในตลาดหายไปถึง 50% จากปริมาณการบริโภคเฉลี่ยวันละ 40,000 ตัว สาเหตุหลักคือโรคระบาดในหมูหลายโรคที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตหมูมา 2 ปีแล้ว
จนถึงวันนี้ขึ้นปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ก็ยืนยันอยู่เช่นนั้นว่าไทยไม่มี ASF แม้ประเทศเพื่อนบ้านระบาดหนัก เหตุที่ราคาหมูแพงก็ไม่ใช่เพราะหมูตาย
“ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะ ASF ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ปี 2564 - ปัจจุบัน รัฐบาลไทยควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น” นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ อธิบายภาพรวมว่า ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงประมาณ 2 แสนราย เป็นรายย่อย 1.6-1.7 แสนราย และรายย่อยนี่เองที่ล้มระเนระนาดเพราะต้นทุนวัตถุดิบพวกปลายข้าว รำ ขึ้นราคาเฉลี่ย 30% ต้นทุนเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นราคาเฉลี่ย 50% รวมทั้งการบริหารจัดการของฟาร์มก็ต้นทุนสูงขึ้น โดยโรค AFS ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษาโรค ระดับความเสียหายมีตั้งแต่ 20-30% หรือตายหมดฟาร์ม 100% ก็มี แต่ทางการไทยยังไม่ยอมรับว่าเป็นโรคนี้ และพยายามบอกว่าเป็นโรคเพิร์ส ทั้งที่มันเป็นโรคประจำถิ่นและมียารักษา
ทั้งนี้ ภาพรวมรูปแบบการเลี้ยง ในประเทศไทยมีหมูประมาณ 21 ล้านตัว โดย 80% เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนอีก 20% คือรายย่อย วิกฤตครั้งนี้บริษัทใหญ่เสียหายเหมือนกันแต่เสียหายน้อยเนื่องจากมีระบบที่ดีกว่า
ขณะที่ในด้านของพรรคเพื่อไทยระบุว่า รัฐบาลพยายามปกปิดข้อมูลมา 3 ปีทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และปล่อยให้เกษตรกรแบกรับความเสียหาย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 150% ของความเสียหาย โดยจากช่วงก่อนการระบาดมีสุกร 22 ล้านตัว ปัจจุบันเหลือ 12 ล้านตัว ส่วนแม่พันธุ์สุกรจากเดิมมี 1.2 ล้านตัว ปัจจุบันลดลงเหลือ 5 แสนตัว ล่าสุดประเทศไทยส่งออกกุนเชียงไปไต้หวัน ถูกตรวจพบว่าเนื้อกุนเชียงมีการปนเปื้อนเชื้ออหิวาห์แอฟริกัน แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าเป็นหมูนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่้งไม่เป็นความจริงเพราะการเคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์และยังไม่เคยรายงานไปยัง OIE ถามว่ารัฐบาลทำเพื่อใครกันแน่ ใช่หรือไม่ว่าเพราะการส่งออกเนื้อสุกรไปต่างประเทศของไทยสูงถึงปีละ 22,000 ล้านบาท
ด้านพรรคก้าวไกลเสนอว่า ทางแก้ไขปัญหาคือ การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีกลไกภาครัฐ หรือ บสย. เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โดยระยะแรกที่ทำได้เลย คือ การจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงปล่อยให้เล้าว่างไปแล้ว ให้หันกลับมาลงทุนเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปคือ การสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหม่ลงทุนเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐานต่อไป
ล่าสุด ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์แถลงว่า นายกฯ ได้สั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาหมูแพงอย่างเร่งด่วน โดยตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ
สำหรับในระยะกลาง-ยาวนั้นกรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กเดิมในพื้นที่ที่เหมาะสมและขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่มเพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อย โดยจะใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน คาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง4 ล้านตัน/ต่อปี ทั้งยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน “ปศุสัตว์ Sandbox” หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน
รมช.เกษตรฯ บอกเดี๋ยวราคาก็ลง แต่คนในวงการหมูไม่ประเมินอย่างนั้น นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า 10 มกราคม 2565 หมูเนื้อแดงที่ตลาดปลายทางมีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 260 บาท/กก. ส่วนหมูสามชั้นมีโอกาสที่จะทะลุ 300 บาท/กก. ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ถ้าไม่มีการนำหมูเข้ามาทดแทน เพราะผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยเลิกเลี้ยงไปเป็นจำนวนมากจากโรคระบาดร้ายแรงและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และในแต่ละรอบการเลี้ยงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปด้วย
เรื่องหมูจึงไม่หมูด้วยประการฉะนี้