ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์คัดค้าน แนวคิด 'โรงเรียนอีลิท' ของ 'ณัฏฐพล - รมว.ศธ.' ชี้ ย้อนแย้ง 'คุณหญิงกัลยา - รมช.ศธ.' หวั่นช่องว่างความเหลื่อมล้ำยิ่งขยาย เลือกปฏิบัติต่อเยาวชน จี้ทบทวน

จากกรณีที่ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้เปิดเผยถึงแนวนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ประสงค์ให้มีการสร้าง “โรงเรียนอีลิท” (Elite) ขึ้นเพื่อเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กพฐ. ที่ต้องการให้มีการเปิดรับเฉพาะนักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการโดยการสอบเข้า 100% เพื่อคัดกรองเด็กที่เรียนเก่งมีความเป็นเลิศเข้าเรียนโดยตรง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น  

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เผยแพร่ แถลงการณ์ ฉบับที่ 3/2562 เรื่อง ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งปฏิรูปการศึกษาและทบทวนการดำเนินนโยบายโรงเรียนอีลิท (Elite) ใจความว่า ครป. ซึ่งผลักดันการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูประบบการศึกษาที่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่องมีข้อห่วงกังวลต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ขัดแย้งกับแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษาที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนผลักดันมาโดยตลอดเพื่อพัฒนาการศึกษาที่รับใช้สังคมและเอาชุมชนเป็นศูนย์กลางการศึกษาโดยให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการเท่านั้น นโยบายดังกล่าวยังเป็นการเลือกปฏิบัติทางการศึกษาต่อพลเมือง ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขัดแย้งกับนโยบายรัฐสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐควรสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวยังขัดแย้งกับแนวนโยบายที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงนโยบายการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอีกด้วย

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมาก ด้วยวิธีคิดของโรงเรียนที่มุ่งการสร้างเด็กให้เหมาะสมกับโรงเรียนโดยไม่เอาเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับระบบการแข่งขันแบบ “แพ้คัดออก” มาโดยตลอด ซึ่งได้สร้างผู้พ่ายแพ้ในระบบการศึกษากระแสหลักจำนวนมาก เพียงเพราะระบบการศึกษาไม่ได้พัฒนาในสิ่งที่ตรงและเหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ระบบ “แพ้คัดออก” ยังได้ผลักเด็กจำนวนมากออกจากระบบการศึกษาและเข้าสู่วงจรด้านมืดของสังคมอีกด้วย ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนานยังขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะมีต้นแบบ (Model) นำเสนอจากภาคประชาสังคมและเครือข่ายการศึกษาทางเลือก ก็ยังไม่ได้รับการขยายผลต่ออย่างจริงจังโดยภาครัฐ ทั้งนี้ นโยบายโรงเรียนอีลิทเป็นเพียงแนวคิดที่ยิ่งขยายช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมออกไปอีก รวมถึงตอกย้ำและแบ่งแยกเยาวชนภายใต้ระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรมต่อไปไม่รู้จบ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จึงขอเรียกร้องให้รมว.ศึกษาธิการโปรดทบทวนนโยบายดังกล่าว และมุ่งหาทางออกเพื่อปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง สร้างรัฐสวัสดิการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันทุกจังหวัด เน้นการศึกษาแบบองค์รวม และการให้การศึกษาทางการเมืองแก่พลเมือง (Civic Education) อย่างเต็มที่ โดยเน้นการศึกษาเรียนรู้โดยเอาชุมชนและเด็กเป็นศูนย์กลางท่ามกลางความหลากหลาย เลิกระบบการประเมินการสอนและการควบคุมที่ซ้ำซ้อนและไม่เป็นประโยชน์ต่อครูและนักเรียน เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยที่เหมาะสมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีความสนใจตามความถนัดของเยาวชน