ไม่พบผลการค้นหา
ปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ยังคงมีเอกสารคำชี้แจงหลุดเผยแพร่ในโลกโซเชียลต่อเนื่อง หลังจากวันที่ 6 ก.ย. ได้เห็นคำชี้แจงของ มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อมาวันที่ 7 ก.ย. เอกสารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หลุดอีก อย่างไรก็ตาม เลขาฯ ศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่าไม่แน่ว่าเอกสารที่หลุดออกไปนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่

สำหรับเอกสารคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เผยแพร่กันในโซเชียลมีเดียและสื่อหลายสำนัก มีทั้งหมด 23 หน้า แบ่งออกเป็น 8 ประเด็น เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้ 

1.โต้แย้งเรื่องบทเฉพาะกาล ม.264 นับจาก 2557 ไม่ได้ เพราะตำแหน่งนายกฯ สิ้นสุดไปพร้อม รธน.ชั่วคราว

ผู้ร้องเห็นว่า บทเฉพาะการ มาตรา 264 กำหนดว่า ครม.ก่อนหน้านี้ให้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย จนกว่าจะมี ครม.ใหม่จากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงนับการได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 

เอกสารชี้แจงว่า ไม่อาจนับการเป็นนายกฯ เมื่อ 24 ส.ค.2557 ได้เนื่องจากนั่นเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวสิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 ความเป็นนายกฯ ครั้งแรกก็ย่อมสิ้นสุดไปพร้อมรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยหลักกฎหมายการเป็นนายกฯ ครั้งแรกจึงเป็นอันสิ้นสุดและขาดตอนจากการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่อาจเอาระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรกนั้นมานับรวมได้ 

ส่วนการเป็นนายกฯ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ต่อเนื่องมา ก็เป็นเพราะบทเฉพาะกาล ม.264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ให้ ครม.ก่อนหน้าทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมี ครม.จากการเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ความเป็นนายกฯ จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ตนก็ยังเป็นนายกฯ ต่อด้วยผลจากบทเฉพาะกาลดังกล่าว แต่ต้องถือว่าเป็นการเป็นนายกฯ ใหม่ตามบทเฉพาะกาล ที่ขาดตอนจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 

ดังนั้น จึงยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี 

2.อ้างอิงความเห็น (ลับมาก) ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่า ถ้าจะกำหนดย้อนหลังย่อมต้องเขียนไว้ชัดแจ้ง

เอกสารชี้แจงว่า บทบัญญัติที่จำกัดสิทธิต้องตีความอย่างแคบและเคร่งครัด ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญต้องการให้มีผลย้อนหลังก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ย่อมต้องเขียนไว้แบบไม่ต้องตีความ นอกจากนี้หากดูมาตราที่ว่าด้วยการกำหนดเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีซึ่งมีหลายวรรค แต่ละวรรคมีความสัมพันธ์กันว่าหมายถึงนายกฯ ที่มาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ 2560

ที่สำคัญยังอ้างอิงถึงบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความเรื่องนี้โดยเฉพาะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่เห็นว่าหลักการ 8 ปีเป็นการจำกัดสิทธิผู้ที่จะเป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ดังนั้นต้องตีความเคร่งครัด จะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดเรื่อง 8 ปีก็ระบุไม่ให้นับช่วงรักษาการด้วย ดังนั้น ย่อมต้องหมายถึงการเข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากประสงค์จะให้ใช้บังคับก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ย่อมต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นการกำหนดย้อนหลังให้บุคคลที่ล้มละลายทุจริต เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดหรือเคยต้องคำพิพากษา เป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 

ทั้งนี้ กรรมการกฤษฎีกาผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ได้แก่ 

  • มีชัย ฤชุพันธุ์ 
  • นรชิต สิงหเสนี 
  • ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย  
  • ประพันธ์ นัยโกวิท
  • ปกรณ์ นิลประพันธ์ 
  • อัชพร จารุจินดา
  • อุดม รัฐอมฤต

3.หักล้างการอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง 

3.1 คำวินิจฉัยที่ 5/2561 วินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ว่าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 187 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ด้วย เพราะเป็น ครม.ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ประเด็นว่าตนเป็นนายกฯ หรือไม่และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญนี้หรือเปล่า แต่เป็นประเด็นว่านับการดำรงตำแหน่งเมื่อใด 

3.2 คำวินิจฉัยที่ 7/2562 ก็เป็นในลักษณะเดียวกัน 

3.3 คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 เรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มิใช่โทษอาญาจึงสามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ ก็เป็นคนละประเด็นกับเรื่องการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง เพราะไม่ใช่เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่เป็นการเข้าใจที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

3.4 คำวินิจฉัยที่ 24/2564 เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิลงสมัครส.ส.หรือไม่หากต้องคพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้เรื่องที่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามจะเกิดขึ้นก่อนลงเลือกตั้ง แต่กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันในขณะผู้นั้นใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ไมใช่การใช้กฎหมายย้อนหลังตามที่ผู้ร้องเข้าใจ 

4.ความเข้าใจต่อหลักสากล Power trends to corrupt and absolute power corrupts absolutely

ผู้ร้องกล่าวว่าการกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อป้องกันการทุจริตทางอำนาจ หากดำรงตำแหน่งยาวนาน เอกสารชี้แจงว่า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติโดยตลอด และตนเองก็เชื่อเช่นกันว่า คนที่มีอำนาจเด็ดขาดจะทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัดถ้าปล่อยให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป 

"ดังเช่นที่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมในประเทศของเราเมื่อไม่นานมานี้" 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตนเองจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มานานเทาใดก็ไม่เคยใช้อำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง การจะละเมิดหรือขัดต่อหลักสากลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จำกัดเวลาดำรงตำแหน่งไว้ 8 ปี ขึ้นอยู่กับพฤตินิสัยของบุคคล มิใช่กำหนดโดยระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 

5. โต้แย้งบันทึกประชุม กรธ.500 ไม่มีน้ำหนัก

เอกสารชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องมีก่อนการยกร่างในแต่ละมาตรา เพราะคือเหตุผลที่มาของบทกฎหมายนั้น มิใช่ยกร่างมาก่อนแล้วค่อยหาเจตนารมณ์ในภายหลัง ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อจัดทำหนังสือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อดูในหนังสือก็ไม่ปรากฏบทสนทนาของ มีชัย-สุพจน์ 

นอกจากนี้บันทึกการประชุมนั้นก็เป็นเพียงการพิจารณาข้อเสนอของ 'อนุกรรมการตรวจพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญ' ไม่ใช่ของ กรธ.

อีกทั้งเอกสารที่นำมาอ้างก็ควรต้องพิสูจน์ถึงความถูกต้องแท้จริง โดยจัดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้อในการจัดทำมาให้ข้อเท็จจริง มิใช่กล่าวอ้างลอยๆ หรือตามความเข้าใจส่วนตัว 

6.โต้แย้งเรื่อง การไม่เปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ป.ป.ช.

ผู้ร้องอ้างถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ไม่เปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่มรส เมื่อครั้งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ในปี 2562 ซึ่ง ป.ป.ช.ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ครั้งแรกตามมาตรา 105 วรรคสาม (1) แต่เป็นการยื่นเพื่อเป็นหลักฐานตามมาตรา 105 วรรคสี่ จึงไม่อาจเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนทราบได้ตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ของกฎหมาย ป.ป.ช. เลยเปิดเผยเฉพาะตอนดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 24 ส.ค.2557 เท่านั้น 

เอกสารชี้แจงว่า ผู้ร้อง "ทึกทักเอาเอง" ว่า เมื่อ ป.ป.ช.เปิดเผยเฉพาะบัญชีทรัพย์สินของปี 2557 จึงต้องถือว่าตนดำรงตำแหน่งนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้ว ทั้งที่หลักเกณฑ์การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. กับเกณฑ์การดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ เป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายต่างฉบับ เจตนารมณ์และความมุ่งหมายแตกตางกัน อีกทั้งกฎหมาย ป.ป.ช. ก็เป็นกฎหมายที่ต่ำศักดิ์กว่ารัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเอากฎหมายสองฉบับมาใช้ร่วมกันได้ 

7.โต้แย้งว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ยึดหลักความรับรู้ทั่วไปของประชาชน 

ผู้ร้องอ้างว่า ตนสั่งการในฐานะนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2557 เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชน ศาลจึงจำเป็นต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ 

เอกสารชี้แจงว่า "ไม่ทราบว่าผู้ร้องไปนำเอาหลักกฎหมายว่าจำเป็นต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชนทุกภาคส่วนมาจากที่ใด" เพราะหลักการตีความกฎหมายที่เป็นหลักสากลล้วนแต่ยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม ที่ต้องตีความกฎหมายตามทฤษฎีกฎหมาย ไ่มใช่ตีความจากความรับรู้ของคนทั่วไป 

นอกจากนี้ยังอ้างถึง มาตรา 188 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีไปตามหลักกฎหมายและในพระปรมาภิไธย 

8.บทสรุป 

ข้อกล่าวหาของผู้ร้องเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง รวมทั้งการเข้าใจหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ถูกต้อง 

แม้ปัญหาการนับระยะเวลานี้จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ด้วยเหตุผลที่ชี้แจงไปทั้งหมด จึงเห็นว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด การเริ่มนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม ม.158 วรรคสี่ ก็ไม่อาจเริ่มจาก 24 ส.ค.2557 ตอนที่ตนเป็นนายกฯ ครั้งแรกได้ เพราะความเป็นนายกฯ นั้นสิ้นสุดลงและขาดตอนไปแล้วจากรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 จากผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งบทบัญญาติเรื่อง 8 ปี เป็นการจำกัดสิทธิของผู้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงต้องตีความโดยแคบและโดยเคร่งครัด มาตรา 158 วรรคสี่นั้นจึงหมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น มิได้หมายรวมไปถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่น ซึ่งหากรัฐธรรมนูญ 2560 มีเจตนารมณ์จะให้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่นด้วยก็ย่อมต้องบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัด 

ข้อกล่าวหาของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม