วันที่ 16 พ.ย. 2565 รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่มีนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นที่พักก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.หัวหมาก โดยทางตำรวจอ้างเหตุว่าอาจก่อความไม่สงบระหว่างการประชุม APEC ต่อมาเมื่อทั้ง 3 คนติดต่อทนายความส่วนตัวได้แล้ว ทางตำรวจแจ้งว่าหากลงลายมือชื่อยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและบันทึกประจำวันก็จะปล่อยตัวภายในวันนี้ (ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว)
รังสิมันต์ ระบุว่า การเข้าค้นดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีหมายค้น ซึ่งทราบมาว่าสุดท้ายแล้วไม่พบสิ่งของที่เป็นความผิดหรือต้องสงสัยว่าจะไปก่อเหตุใดๆ ได้ แต่การที่ตำรวจนำตัวนักศึกษาไปยัง สน.หัวหมากด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เกินเลยกว่าเรื่องการค้นไปแล้วเพราะอาจเข้าข่ายเป็นการจับ ซึ่งไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าค้นนั้นมีหมายจับนักศึกษาทั้ง 3 คน และทั้ง 3 คนนี้ก็ไม่เคยมีคดีความมั่นคงมาก่อน การที่จะจับโดยที่ไม่มีหมายนั้นจึงต้องเป็นกรณีที่พบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น ดังนั้นผมขอให้ทางตำรวจชี้แจงด้วยว่าการนำตัวนักศึกษา 3 คนมาที่ สน. ด้วยนั้น ท่านอาศัยเหตุอะไร? อาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน? หรือว่าจริงๆ คือแค่เห็นว่าเป็นคนมุสลิมก็หาเรื่องจับแล้วโดยไม่ต้องมีมูลใดๆ?
มากไปกว่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าถ้าทั้ง 3 คนยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วจะปล่อยตัวนั้น นี่ก็เช่นกันว่าท่านอาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน เพราะถ้าไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ที่จะต้องควบคุมตัวไว้ ประชาชนย่อมต้องได้ปล่อยตัวออกมาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องยินยอมให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลใดๆ ของตัวเอง และเอาเข้าจริงแล้วการที่ตำรวจสามารถยืนข้อเสนอได้ง่ายๆ ว่าจะปล่อยตัวโดยแลกกับการให้เข้าถึงข้อมูลนั้น แสดงว่าทางตำรวจเองก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องควบคุมตัวนักศึกษา 3 คนตั้งแต่แรกแล้วใช่หรือไม่
แล้วการมาทำเช่นนี้ต่างอะไรจากการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ข่มขู่เพื่อล้วงข้อมูลคนคนนั้น
"ก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าในช่วงประชุม APEC นั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่อยากเสียหน้าเวลามีใครออกมาประท้วงพวกท่าน แต่การให้ตำรวจมาไล่ล่าจับประชาชนแบบเลื่อนลอยด้วยข้ออ้างแค่ว่ากลัวจะไปก่อความไม่สงบ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่อับอายขายหน้าประชาคมโลกอย่างแท้จริง ดังนั้นตนเสนอนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อพิจารณาหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่น่าเสื่อมเสียเช่นนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐอีก" รังสิมันต์ กล่าว