คณะนักวิจัยในอิตาลีเผยแพร่รายงานสำรวจคุณค่าทางโภชนาการของแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทอื่นๆ ลงในวารสาร Frontier in Nutrition พร้อมระบุว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่จะมาทดแทนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มนุษย์กินอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยป้องกันโรคมะเร็ง
เว็บไซต์ Phys.Org และ The Telegraph รายงานอ้างอิงผลการวิจัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ค. โดยระบุว่า คณะนักวิจัยทดสอบคุณค่าทางโภชนาการของแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เช่น แมงป่อง แมงมุม โดยใช้วิธีแยกส่วนที่กินได้และกินไม่ได้ออกจากกัน เช่น เหล็กไนหรือปีก จากนั้นจึงนำส่วนที่กินได้ไปบดละเอียด ละลายกับน้ำหรือของเหลวอื่นๆ เพื่อนำไปจำแนกว่าพบอะไรในสารละลายดังกล่าวบ้าง
ศาสตราจารย์เมาโร เซราฟินี ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า สารละลายแมลงประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน วิตะมิน กากใยอาหาร รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารบางชนิดที่บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน
เซราฟินียกตัวอย่างว่า การเปรียบเทียบจิ้งหรีดบดละลายน้ำในปริมาณที่เท่ากันกับน้ำส้มคั้นสด พบว่าน้ำจิ้งหรีดมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าน้ำส้มคั้นสดราว 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไขมันดีที่พบใน 'หนอนไหม' สูงกว่าน้ำมันมะกอกราว 2 เท่า
ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในยุโรปเริ่มหันมาวางจำหน่ายแมลงแช่แข็งและอาหารแปรรูปจากแมลง โดยส่วนใหญ่ทำมาจากจิ้งหรีดและตั๊กแตน ขณะที่สัดส่วนประชากรโลกที่บริโภคแมลงเป็นประจำจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านคน โดยแมลงที่นิยมบริโภคกันมาก ได้แก่ แมลงปีกแข็ง หนอนผีเสื้อ และมด ผึ้ง ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องควรส่งเสริม เพราะอุตสาหกรรมอาหารจากแมลงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิม เช่น วัวหรือหมู ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยก่อเหตุของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เซราฟินีระบุว่า จำเป็นจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ว่าส่งผลอย่างไรต่อร่างกายมนุษย์หากบริโภคในระยะยาว รวมถึงต้องพัฒนารสชาติให้ดึงดูดผู้คนที่ไม่เคยกินแมลงมาก่อนให้ยอมกินอาหารที่ไม่คุ้นเคย
ที่มา: Phys.Org/ The Telegraph
Photo by Maksim Shutov on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: