ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ.มีแค่การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่โตขึ้นจากการเร่งซื้อสินค้าของประชาชน แต่เมื่อมองไปข้างหน้าอนาคตยังไม่สดใส

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หดตัวลดลงในทุกภาคส่วน ทั้งอุปสงค์จากต่างประเทศ การผลิต และการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่ย้ำว่าเสถียรภาพของประเทศยังเข้มแข็งอยู่

ดอน นาครทรรพ.jpeg
  • ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ศึกหนักท่องเที่ยว-ส่งออก

ในการแถลงคาดกาณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ ธปท. มองไว้ที่ติดลบร้อยละ 5.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ซึ่งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศในเดือน ก.พ.ก็เริ่มฉายภาพดังกล่าวให้เห็นแล้ว

โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวประจำเดือน ก.พ. ลดลงร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปถึงติดลบร้อยละ 85 เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ที่ติดลบร้อยละ 73

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นประเทศเดียวที่ปรับตัวสูงขึ้ร้อยละ 12 ในเดือน ก.พ. โดย ดร.ดอน ชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยในเดือน ก.พ. ยังมีจำนวนน้อยอยู่ แต่เมื่อมองต่อไปในอนาคตหรือแค่ในเดือน มี.ค. ก็ไม่คิดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นบวกด้วย พร้อมชี้ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเข้าประเทศจากทั้ง 6 ด่าน ประจำวันที่ 28 มี.ค. มีราว 600 คน เท่านั้น ประกอบกับยอดการจองห้องพักล่วงหน้าที่แทบเป็นศูนย์ ดังนั้น ภาคบริการจะได้รับผลกระทบมากแน่นอนในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค. 

ขณะที่อุตสาหกรรมการส่งออกที่ไม่รวมทองคำก็ปรับตัวติดลบร้อยละ 1.3 เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยหลักมาจากการที่จีนปิดเมือง ซึ่งส่งปลกระทบโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตในไทยที่ส่งออกสินค้าไปให้จีนเป็นหลัก นอกจากนี้อุปสงค์ที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวทั่วโลกก็มีผลกับคำสั่งซื้อเช่นเดียวกัน 


การผลิตมีปัญหา-เอกชนและปชช.ไม่มีเงินบริโภค

สืบเนื่องจากภาวะอุปสงค์อ่อนแอ ดร.ดอน ชี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.ก็ตกลงเช่นเดียวกัน โดยหลักๆ เกิดจากห่วงโซ่การผลิตที่หยุดชะงักในจีนและในหลายประเทศที่สั่งใช้มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ 

ผลกระทบสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในสินค้าประเภทรถยนต์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ อย่างไรก็ตาม สินค้าบางประเภท อาทิ อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง หรืออุปกรณ์การแพทย์ ยังปรับตัวได้ดีขึ้นจากความต้องจากฝั่งสาธารณสุขและการเร่งซื้อสินค้าของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อนำตัวเลขทั้งอุตสาหกรรมมารวมกันแล้วยังถือว่าอยู่ในฝั่งหดตัว 

ในทำนองเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงทุกหมวด ยกเว้นสินค้าไม่คงทน ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งซื้อหรือกักตุนสินค้าของประชาชนจากความไม่มั่นใจเรื่องการขาดแคลนอาหารหรือสินค้าจำเป็นต่างๆ แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ดร.ดอน ชี้ว่า การบริโภคภาคเอกชนอาจคงตัวในแดนบวกได้แค่ในไตรมาส 1 เท่านั้น เพราะกำลังซื้อของประชาชนได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการการปิดธุรกิจต่างๆ 

ตัวเลขการรับสิทธิ์ว่างงานของสำนักงานประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ความน่ากังวลในฝั่งกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ “ไม่ต้องพูดถึง ต่ำสุดๆ ต่ำไปเรื่อยๆ” ส่งให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ติดลบถึงร้อยละ 10.1 ในเดือน ก.พ. จากที่อยู่ติดลบร้อยละ 6.1 ในเดือน ม.ค. 


การใช้จ่ายของรัฐก็อาจอุ้ม ศก.ไม่ไหว 

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ควรจะเป็นเครื่องมือช่วยเศรษฐกิจก็ต้องสะดุดในเดือน ก.พ. เนื่องจากในเดือนนั้น พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ประกาศใช้ เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายของฝั่งรัฐวิสาหกิจที่ไม่ค่อนดี 

ส่วนความหวังเรื่องการแจกเงินแรงงาน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ดร.ดอน ชี้ว่า ธปท. ได้คำนวณเข้าไปอยู่แล้วในการประเมินตัวเลขจีดีพี แต่ประเมินไว้ในกรอบการแจกเงินประชาชนจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งจะใช้งบราว 45,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่เยอะ แต่ต้องรอดูตัวเลขเม็ดเงินอัดฉีดอีกครั้งเมื่อกระทรวงการคลังสรุปได้ว่าจะให้เงินช่วยเหลือกับประชาชนทั้งหมดกี่คน ด้านมาตรการการพักหนี้ ที่ออกมาจากฝั่ง ธปท. เองก็น่าจะช่วยได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ดร.ดอน ชี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาทั้ง 2 เฟส ใช้งบประมาณประมาณ 400,000 ล้านบาท และหากเป็นไปตามที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะมีมาตรการในระยะที่ 3 ออกมาซึ่งจะมากกว่าระยะที่ 1 และ 2 รวมกัน ก็อาจจะคิดเป็นเม็ดเงินคร่าวๆ ราว ร้อยละ 2 - 3 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยการย่อตัวของจีดีพีในปีนี้ได้บ้าง 


จะกี่ครั้งเสถียรภาพไทยก็ยังดี 

ดร.ดอน ปิดท้ายการแถลงข่าวในประเด็นเสถียรภาพของประเทศว่าทุกอย่างยังดีอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามราคาหลังงานที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรบตัวสูงขึ้น ด้านบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับจากการท่องเที่ยวจะลดลง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายไลหออกสุทธิจากการเทขายสินทรัพย์ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ​

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่มีความกังวลกับกระแสเงินทุนไหลออกดังหล่าว เนื่องจากประเทศยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง และการที่เงินบาทอ่อนค่าลงก็มีผลดีสำหรับผู้ส่งออกที่จะมีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น อาทิ ในฝั่งสินค้าเกษตร 

ดร.ดอน ย้ำว่า สถานการณ์เสถียรภาพเศรษฐกิจตอนนี้ต่างกับในปี 2540 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและเงินกองทุนค่อนข้างสูง จึงสามารถรองรับหนี้เสีย (NPL) ได้ในระดับหนึ่ง จึงไม่ต้องมีความกังวล