วันที่ 26 มี.ค. 2566 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า วันที่ 27 มี.ค. ตนจะเดินทางไปร้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สอบเจ้าหน้าที่เอื้อให้บริษัทเอกชนสร้างสะพานพระโขนงเพื่อเก็บค่าผ่านทางขัดกับ EIA หรือไม่
ตามที่ บ.แสนสิริ ได้ก่อสร้างคอนโด 2 โครงการสูง 39 ชั้นและ 27 ชั้นบริเวณริมคลองพระโขนง เขตวัฒนา โดยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ(คชก.) และได้รับความเห็นชอบเมื่อ 21 มี.ค.2556 พร้อมกันทั้ง 2 โครงการแล้วนั้น
ในรายงาน EIA ทั้ง 2 โครงการได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมขนาดกว้าง 12 เมตรบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง สะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ ซึ่งหากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนาเพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย
ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง บ.แสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ ซึ่งโครงการต้องมีมาตรการในการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้
แต่เหตุใดเมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จึงมีบุคคลมาตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนดังกล่าวจำนวน 10-20 บาทมาอย่างต่อเนื่อง หากจะผ่านสะพานและที่ดินภาระจำยอมดังกล่าว (น่าจะมีรายรับไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทแล้ว) โดยเป็นที่สงสัยว่าสำนักงานเขตวัฒนา สำนักการโยธา และหรือ กทม. ได้ดำเนินการใดๆ หรือบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน EIA หรือไม่ หากไม่ดำเนินการอาจถือได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม.มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจะนำความไปร้องผู้ว่าฯชัชชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนในวันจันทร์ที่ 27 มี.ค.66 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า เขตพระนคร