จากกรณี ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการการสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง บริเวณซอยสุขุมวิท 77 เพื่อออกสู่ถนนปรีดีพนมยง 2 ซึ่งเป็นถนนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ภายหลังมีการสร้างเสร็จ
โดยอ้างว่ามีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านทางมาตั้งแต่ปี 2558 โดยรถยนต์ อัตรา 20 บาท และรถจักรยานยนต์ อัตรา 10 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
อีกทั้งประเด็นดังกล่าวยังมีการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ โดยตัวแทนแสนสิริ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าการเก็บค่าผ่านทางเพื่อเชื่อมพื้นที่ในโครงการดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยมีเนื้อหาดังนี้
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า สะพานเป็นทางสาธารณประโยชน์ การบริหารจัดการเก็บค่าผ่านทางถนนในโครงการ T77 รายรับ รายจ่าย การดูแล ซ่อมบำรุงเป็นเรื่องของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน บริษัทฯจึงมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างสะพาน และจัดเก็บค่าผ่านทางแต่อย่างใด บริษัทขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ และเคารพในสิทธิของประชาชน
ขณะที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวในวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าสะพานที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะที่ใช้ข้ามคลอง ซึ่งประเด็นคือทางสาธารณะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง เรื่องนี้ทางกทม.ขอรับไปตรวจสอบซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยาก เนื่องจากการดำเนินการทุกอย่างนั้นเป็นไปตามระเบียบของทางราชการอยู่แล้ว โดยไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการดำเนินการ แต่ต้องดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การปฏิบัติตามระเบียบ EIA
ผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า การบังคับใช้ตามกฎหมาย กทม.ต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว โดยตามหลักการหากก่อสร้างบนที่ดินของเอกชน เอกชนสามารถดำเนินการเก็บค่าผ่านทางได้ จึงต้องขอตรวจสอบในแง่ของการอนุญาตก่อสร้างสะพานและจุดประสงค์ของการสร้างสะพานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างสะพานต้องมีการขออนุญาตกรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด