วันที่ 30 พ.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ถึงกรณีที่ได้มีการนำหลักฐานเข้าร้องเรียน กกต. กรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ผู้สมัครผู้ว่า กทม.รายอื่น ที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน กรณีไม่เก็บแผ่นป้ายหาเสียงให้หมดสิ้นไปจากท้องถนน
โดย ศรีสุวรรณ ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สนใจแค่ว่าผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าฯกทม. หรือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกัน
ศรีสุวรรณ เสริมว่า ตนนั้นร้องเรียน ท้วงติง และส่งสัญญาณแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ส่งสัญญาณไปยังผู้สมัครอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เรื่องอะไรที่สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ตนนั้นก็จะเอาประเด็นนั้นมาเสนอต่อสังคม แม้กระทั่งกรณีป้ายหาเสียงของชัชชาติ ที่ออกมานำเสนอว่า ป้ายหาเสียงนั้นจะสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋าได้ โดยส่วนตัวตนมองว่า อาจจะเป็นการชี้นำสังคม จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาเลือกให้ตัวเอง ซึ่งตนนั้นได้เกาะติดประเด็นนี้มาโดยตลอด
"ผมนำเรื่องนี้มาร้องต่อ กกต. ถ้า กกต.วินิจฉัยเห็นด้วยหรือไม่ มันก็เป็นอำนาจของกกต. จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่สนใจ เพราะเราทำหน้าที่ของเรา" ศรีสุวรรณ กล่าว
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า คะแนนเสียงที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิ 1.38 ล้านเสียงนั้น ไม่ได้กดดันหน้าที่ของตน เพราะธรรมชาติของการเลือกตั้ง มันต้องมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และคัดค้านเป็นธรรมดาของการเมือง
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เพียงแต่หน้าที่ของตนนั้นจะต้องติดตามตรวจสอบ ดังนั้นนักการเมืองจะต้องระมัดระวังต่อประเด็นต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างนักการเมือง และตนนั้นก็มองว่า สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าคิดว่าจะเป็นการพยายามทำร้ายกัน
'นักร้อง' ไม่จำเป็นต้อง 'หิวแสง' สวนคนจ้องจับผิดเคยทำประโยชน์หรือไม่
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า โซเชียลมีเดียจะนิยาม ตนว่าเป็นนักร้องก็ไม่ติดใจ ไม่ถือเอามาเป็นเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจ มองว่าดีแล้วที่คนในสังคมตั้งฉายาให้ เพราะปกติหน้าที่ของตนนั้นก็เพื่อร้องเรียนข้อปัญหาสังคม นำประเด็นสังคมไปฟ้องร้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม
"ผมทำหน้าที่ ปรากฏตัวมากว่า 10-20 ปี ก่อนจะมีโซเชียลฯ เสียอีก คนที่ตำหนิผม ตัวเองเคยทำเพื่อประโยชน์สังคมแบบผมบ้างหรือยัง" ศรีสุวรรณ กล่าว
ศรีสุวรรณ เสริมว่า เรื่องหิวแสง ไม่ได้เกิดประโยชน์กับตน ถ้าเข้าไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตจะพบว่า ชื่อศรีสุวรรณ ทำหน้าที่นี้มาไม่ต่ำกว่า 20-30 ปีแล้ว การทำหน้าที่นี้ กระแสสังคม หรือสื่อจะสนใจมากน้อยเพียงใด หรือการปรากฏเป็นข่าวมากๆ มันคือการทำหน้าที่ของเรามากขึ้น
รอหลักฐานมัด'พลังประชารัฐ' ปมหาเสียงไม่ทำตามสัญญา
ในประเด็นนี้ ศรีสุวรรณ อธิบายว่า ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นฝ่ายไหน ตนตรวจสอบฝ่ายการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ส่วนประเด็นของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นข่าวนั้น อยู่ในส่วนที่กำลังเก็บรวบรวมพยานหลักฐานอยู่
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องของนโยบายในป้ายหาเสียงของพลังประชารัฐนั้น ก็มีบางนโยบายดำเนินการตามหาเสียงไปแล้ว แต่บางนโยบายดำเนินการไม่ได้อย่างครบถ้วนตามสัญญา ซึ่งต้องไปดูอีกทีว่า มันเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเรื่องจริยธรรมหรือไม่ ส่วนการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น กำลังดำเนินการอยู่ ถึงเวลาเมื่อไหร่โป๊ะทันที
เล็งฟ้องกลับฐานเอาความเท็จ เชื่อ นักการเมืองไม่กล้าต่อกร
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่นักการเมืองสามารถทำได้ โดยกรอบกฎหมาย การทำหน้าที่ของตนนั้นมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทให้การคุ้มครองอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ ใครจะมาฟ้องตนได้ง่ายๆ
"หากนักการเมืองไปฟ้องศาล แล้วศาลยกฟ้อง ผมก็มีสิทธิฟ้องกลับ ฐานเอาความเท็จมาฟ้อง เพราะฉะนั้นนักการเมืองรู้ดีว่า ไม่ควรเอาตรงนี้มาต่อกรกับผม" ศรีสุวรรณ กล่าว
เผยเรื่องภูมิใจ ชนะคดีนิคมมาบตาพุด-บริหารน้ำ'
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องร้องเรียนเป็นประโยชน์โดยทั่วไป แต่เรื่องที่สำเร็จคือเรื่องคดีความ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ตนได้ฟ้องร้องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ที่ระบุให้ โรงงานขนาดใหญ่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (EHIA) หรือจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช จนรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาทำได้
"ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคไทยรักษาชาติ และอนาคตใหม่ อาจจะมีคนชอบหรือไม่ชอบ แต่ผมไม่ค่อยใส่ใจมาก เราทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว ก็จะทำต่อไป" ศรีสุวรรณ ระบ
ไม่สนเวรกรรม ชี้เป็นบุญ ได้ทำประโยชน์กับสังคม
ศรีสุวรรณ กล่าวว่า คนก็คิดกันไปพูดกันไป ถ้ากระแสโซเชียลฯ รักใคร ชอบใคร หลงใคร มักจะมองข้ามความผิดของคนที่ตัวเองเป็นแฟนคลับ ทั้งที่การทำหน้าที่ของตน ทั้งเรื่องค้านรัฐบาล การติดป้ายของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในช่วงสงกรานต์ ตนก็ไปแจ้งความ ยังไม่เห็นมีใครเอามาเปรียบเทียบ
"ต้องดูว่าคนที่มาตำหนิตนนั้นเป็นคนอย่างไร ส่วนเรื่องเวรกรรมนั้น ผมมองว่า เป็นบุญด้วยซ้ำที่ผมมาทำประโยชน์กับสังคม" ศรีสุวรรณ กล่าว
บุก กกต. ร้อง 'ชัชชาติ' ยังไม่เก็บป้ายหาเสียง ลั่นทำตามหน้าที่ ไม่แคร์เสียง 1.38 ล้าน
ที่สำนักงาน กกต. ถนนแจ้งวัฒนะ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านสำนักงาน กกต. เพื่อขอให้พิจารณากรณีปรากฏป้ายรณรงค์หาเสียง ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 สืบเนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผอ.กกต.กทม. มีหนังสือแจ้งไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. ให้เร่งเก็บป้ายหาเสียงให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งหลังจากครบ 3 วันแล้ว ปรากฎว่ายังมีผู้สมัครจำนวนมากที่ละเลยเพิกเฉย ปล่อยให้มีป้ายหาเสียงแขวนหรือติดตั้งในพื้นที่เต็มไปหมด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครเหล่านี้ เน้นอยากจะเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ไม่สนใจเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงนำพยานหลักฐานแจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลหลายแห่ง เช่น สน.ดอนเมือง สน.สายไหม สน.สุวินทวงศ์ สน.ลำผักชี และอีกหลาย สน. ที่จะตามมา
ศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า แต่วันนี้ (30 พ.ค) เนื่องจาก กกต. จะมีการพิจารณารับรองผู้ว่าราชการฯ และผู้สมัครส.ก.ลายเขต ทางสมาคมจึงเห็นว่า กรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครเหล่านี้ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพื้นฐานง่ายๆ แต่ยังละเลยเพิกเฉย นับประสาอะไรจะไปบริหารบ้านเมือง หรือคิดข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่สมาคมยอมไม่ได้ จึงนำหลักฐานที่มีมายื่นให้กกต.ใช้ประกอบการวินิจฉัยรับรองผลการเลือกตั้ง
ขณะที่กรณีป้ายหาเสียงของชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่าฯ นั้น ศรีสุวรรณ ระบุว่า ไม่ได้สนใจเรื่องคะแนนเสียง 1.38 ล้านเสียง แต่สนใจว่า เมื่อชัชชาติอาสาเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ แล้วก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเบื้องต้น ไม่ใช่นำคะแนนเสียงนับล้านเสียงที่ได้แล้วมาฝ่าฝืน ยอมรับไม่ได้ จึงนำพยานหลักฐานมายื่นให้เพิ่มเติมหลังยื่นไปหลายสัปดาห์ก่อน
ศรีสุวรรณ ย้ำอีกว่า เมื่อเสร็จสิ้นการหาเสียง มีการระบุว่า ทีมงานจะเก็บป้ายไปทำกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อนเอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ มีการทำลวดลายไว้ และถูกประชาชนหยิบยก หรือลักนำไป อีกทั้งการไม่ระบุชื่อผู้ว่าจ้างว่าเป็น 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่ระบุชื่อชมรมคนรักกรุงเทพฯ ซึ่งในระเบียบต้องระบุชื่อตัวชื่อสกุล ซึ่งมองว่า ชัชชาติอาจหลบเลี่ยง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าว ชัชชาติ ได้ชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาให้ประชาชนนำไปประดิษฐ์เป็นกระเป๋าต่อ ศรีสุวรรณ ตอบว่า ถ้าไม่เจตนา ก็ไม่ควรประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่การโพสต์เช่นนั้นเป็นการเสแสร้ง เพราะทีมงานไม่ได้เก็บใช้เอง จึงถูกประชาชนลักไปประดิษฐ์เป็นกระเป๋า และโพสต์ขายถึง 2,000-3,000 บาท แสดงว่า ชัชชาติเห็นด้วยที่ประชาชนนำเอาป้ายไปทำกระเป๋า มันจึงย้อนแย้งกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจมากน้อยเพียงใดว่า กกต. จะวินิจฉัยเห็นด้วยหรือไม่ ศรีสุวรรณ ตอบว่า ทำหน้าที่ไปตามครรลอง แต่ กกต. จะวินิจฉัยไปในทิศทางใดนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต. อีกทั้งระบุว่า กกต.ควรออกระเบียบให้ชัดเจนว่าป้ายหาเสียงสามารถไปประดิษฐ์ หรือรีไซเคิลได้ แต่ในเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไว้ก่อน
“ผมทำตามหน้าที่ และผมไม่สนใจ 1.38 ล้านอย่างกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้รับคะแนน 1.2 ล้านเสียง แต่เมื่อ คสช. เข้ามาปลดคุณสุขุมพันธุ์ออกไป ผมไม่เห็นมีแฟนคลับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาร้องแรกแหกกระเชอชักดิ้นชักงอเป็นไส้เดือนเหมือนของคุณชัชชาติเลย” ศรีสุวรรณ กล่าว
ส่วนกรณีปรากฏป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านอื่นที่ยังปรากฏอยู่นั้น นศรีสุวรรณ กล่าวว่า ผู้สมัครท่านอื่นไม่ได้ทำแพทเทิร์นกระเป๋าไว้ แต่ก็มีที่ร้องเรียนไปยังพบว่า มีป้ายติดอยู่เกือบ 10 คน ซึ่งเป็นตัวเด่นๆ ทั้งนั้น รวมถึง ส.ก. อีกหลายสิบคน แต่ความคาดหวังคงไม่คิดไปถึงขนาดเลือกตั้งใหม่ เว้นเสียแต่ กกต. จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจไม่สุจริตเที่ยงธรรม ก็ให้ใบเหลือง และจัดการเลือกตั้งใหม่ได้
'วรัญชัย' ไล่ 'ศรีสุวรรณ' ลงสมัครผู้ว่าฯ เองไปเลย'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ศรีสุวรรณมาถึงสำนักงาน กกต. นั้น วรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 22 ที่ตั้งใจมายื่นเรื่องขอให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้คะแนนเสียง 1.38 ล้านเสียง โดยวรัญชัยได้พูดกับศรีสุวรรณ และบอกว่า 1.38 ล้านคนที่เลือก ชัชชาติ ไม่เห็นมีปัญหาต่อประเด็นนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ให้ศรีสุวรรณมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เองไปเลย ทำให้ศรีสุวรรณได้โต้ไปว่า หากคิดจะเป็นนักการเมืองก็ต้องทำตามกฎหมายด้วย พร้อมบอกว่าการประชุม กกต.วันเดียวกันนี้ จะยังไม่รับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง