วันที่ 30 พ.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่ เขต สาทร - ยานนาวา พบปะประชาชนและรับฟังปัญหาในพื้นที่ จากนั้นเดินทางด้วยรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ (BRT) เพื่อสำรวจปัญหาพื้นผิวถนนในพื้นที่สถานีวัดด่าน ร่วมกับ อานุภาพ ธารทอง ว่าที่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสาทร พรรคก้าวไกล พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ว่าที่ ส.ก. เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ชาติชาย กุละนำพล ผู้บริหารเขตสาทร และสุนิติ บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา โดยปัญหาหลักที่พบในพื้นที่คือปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาการก่อสร้างในพื้นที่ และปัญหาสภาพพื้นผิวถนนที่ขรุขระ
ชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อวาน (30 พ.ค.) ได้มีการเปิดแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ให้ประชาชนเข้ามาร่วมแจ้งปัญหาที่พบเจอต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่ามีผู้แจ้งปัญหาเข้ามากว่าสองหมื่นจุด โดยส่วนใหญ่มีการพูดถึงปัญหาที่ถนนพระราม 3 ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ไม่เรียบ เนื่องจากมีการก่อสร้างนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ทำให้มีการเจาะถนนเพื่อทำการก่อสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปิดหลุมที่ใช้สำหรับก่อสร้างไม่ได้มีการปิดที่เรียบ ทำให้เกิดปัญหาพื้นผิวถนนขรุขระตามมา สร้างความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่ง กทม. จะต้องเร่งรัดในการหาวิธีทำให้การปิดฝาหลุมจากการก่อสร้างที่เรียบขึ้นในอนาคต
ในส่วนการเดินรถบีอาร์ที ชัชชาติกล่าวว่า จะต้องมีการทบทวนความคุ้มค่าเช่นเดียวกันกับสวนสาธารณะช่องนนทรี และต้องมีการหาทางแก้ปัญหาจุดจอดระหว่างสถานีที่ค่อนข้างห่าง รวมถึงสำรวจความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรถโดยสารเป็นรถชานต่ำ ที่สามารถรับผู้โดยสารได้มากขึ้นนอกเหนือจากสถานีของบีอาร์ที โดยเฉพาะ ชัชชาติย้ำว่า ไม่ได้มีแผนในการยกเลิกการให้บริการบีอาร์ที แต่จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบความคุ้มค่าให้ละเอียดในอนาคต เนื่องจากยังมีประชาชนที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ โดยส่วนมากเป็นกลุ่มนักเรียน และผู้สูงอายุ
“บีอาร์ที เป็นจุดที่ต้องไปดูว่าจะสามารถปรับปรุงได้อย่างไร ตอนนี้เด็กนักเรียน และผู้สูงอายุใช้เยอะ เฉลี่ยประมาณวันละ 8,000 คน หลายคนยังบอกว่าจำเป็นอยู่ ต้องไปดูอีกทีว่าจะทำยังไงให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น เช่นจัดรถให้วิ่งได้ถี่ขึ้น หรือปรับราคาลง ต้องไปดูรายละเอียดอีกทีหนึ่งเพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่า” ชัชชาติกล่าว
นอกจากนั้น ชัชชาติ กล่าวถึงแนวทางในการปลูกต้นไม้ล้านต้นตามแนวนโยบายในอนาคตไว้ว่า จะมีการเปิดให้จองต้นกล้าจำนวนหนึ่งล้านต้น เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถนำไปปลูกในพื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ รวมถึงในต้นไม้แต่ละต้นจะมีการระบุชื่อผู้ปลูก ระบุพิกัดของต้นไม้ เพื่อให้สามารถติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้ ชัชชาติย้ำว่าใช้งบประมาณไม่เยอะ และปัจจุบันเริ่มมีการวางแผนแล้วว่าจะเลือกพันธุ์ไม้ชนิดใดในการนำไปปลูก ขอให้ประชาชนรอติดตามแนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ
สำหรับประเด็นเรื่องที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่พิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า ต้องให้เกียรติ กกต. ในการทำงาน และต้องไม่ไปกดดันการทำงานของ กกต. เชื่อว่าต่างคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ตนในฐานะว่าที่ผู้ว่าฯ ก็จะสามารถลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ต่อไป ส่วนเรื่องข้อร้องเรียนต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีความกังวลอะไร เนื่องจากได้มีการชี้แจงรายละเอียดไว้หมดแล้ว หาก กกต. ให้การรับรองก็พร้อมเริ่มงานได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง