วันที่ 30 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคาร 50 ปี สารนิเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานเสวนาหัวข้อ "216 โครงการ กับการพลิกโฉมมหานคร" ในโครงการ "CEO Vision: ภาวะผู้นำกับการยกระดับเมืองหลวง" ซึ่งจัดโดย ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยมี ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อรนันท์ กลันทปุระ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และนาวาอากาศโทหญิง งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ กล่าวรายงานถึงเป้าประสงค์ของการจัดกิจกรรมเสวนา และกล่าวเปิดงานในวันนี้
ชัชชาติ กล่าวว่า 216 แผนปฏิบัติการในการพลิกโฉมมหานครนั้น หัวใจของมันในตอนแรกเริ่มคือ จะทำอย่างไรให้ได้เป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่า ทำอย่างไรให้ได้ 1.38 ล้านคะแนนเสียง ตนไม่ได้พูดด้วยความอวด หรืออีโก้ แต่มันคือหนึ่งในการวางแผนของชีวิต
ชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งแรกเริ่มนั้นคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นมี 3 ขั้นตอนคือ 1.Diagnosis การวิเคราะห์ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร 2.A Guiding Policy การมีภาพนโยบายรวมๆ และ 3.A Set of
Coherent Actions คือต้องมีแอคชั่นแพลน หรือการวางแผนการปฏิบัติงาน
"หลายครั้งที่มียุทธศาสตร์ แต่ไม่มี Action Plan มันก็เป็นคำขวัญ แต่ถ้าคุณมียุทธศาสตร์ เช่น อยากจะไปเรียนต่อ หรืออยากไปทำงาน คุณต้องมีหลายๆ Action Plan" ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ กล่าวต่อว่า คำว่า CEO คือคนกำหนดยุทธศาสตร์ Manager คือคนกำหนดกลยุทธ์ ในตอนที่ไม่รู้จะทำอะไร ซีอีโอต้องมากำหนด แต่พอกำหนดว่าจะทำอะไรแล้ว เมเนเจอร์ ต้องเอาไปทำ เช่น วางยุทธศาสตร์ทำให้กรุงเทพฯ รถไม่ติด และมีกลยุทธ์โดยการติดตั้งระบบ ITMS และให้เมเนเจอร์ไปคิดต่อว่าจะติดตั้งระบบนั้นอย่างไร ทุกอย่างมันมี 2 ขั้นตอน
เผย '3 คำถาม' ก่อร่าง สร้างทีมหาเสียง เลือกตั้งผู้ว่าฯ
ชัชชาติ กล่าวว่า ตนเปิดตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ วันที่ 30 พ.ย. 2562 ที่ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ด้วยจำนวนสมาชิกเพียง 5 คน และวันนั้นมี 3 คำถามที่เริ่มต้นนำไปใช้ในการก่อร่างสร้างตัวในการทำทำนโยบายคือ
"เราเชี่ยวชาญเรื่องที่เราทำหรือไม่ ?" ชัชชาติ กล่าวว่า มันสำคัญมาก เพราะการเมืองที่ผ่านมา หลายคนไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ โชคดีที่ตนเป็นผู้สมัครอิสระ คนจึงมาร่วมกับเราเยอะขึ้น ไม่ใช่การเมือง แต่เป็น 'งานเมือง' ตนกราบไหว้เขาไปทั่ว หาเพื่อนร่วมทีมที่เข้มแข็ง สุดท้ายมีทีมงานเพื่อนชัชชาติกว่า 13,000 คน รวมถึงมีเครือข่ายอื่นๆ อีกกว่า 5,000 คน รวมถึงต้องลงพื้นที่ในช่วง 3 ปีก่อนการเลือกตั้ง เพื่อหาความรู้ หานโยบายรายเขต และพัฒนาความเชี่ยวชาญตนเองก่อน
"สิ่งที่เราทำมันเกี่ยวข้องกับโลกไหม ?" ชัชชาติ กล่าวว่า ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนเร็ว คุณอาจจะไม่มีความหมายกับโลกแล้ว สำหรับการเมืองท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีพรรค เป็นอิสระจะทำงานได้ง่ายกว่า และสโลแกน 'ทำงาน ทำงาน ทำงาน' มันกินใจคนกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ ต้องทำมาหากิน นั่นเป็นสภาวะของเมือง รวมถึงมีการหาเสียงแบบสร้างสรรค์เพื่อให้เขาถึงทุกกลุ่มวัย ลดการตัดสินด้วยรูปลักษณ์หรือ Personality Judgement ด้วยการทำการ์ตูน ซึ่งจะทำให้มีการสื่อสารได้ง่ายขึ้น ดังนั้นอย่าลืมการสำคัญของการสื่อสาร
"ทีมยังสนุกอยู่ไหม ?" ชัชชาติ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า หากตื่นเช้ามาแล้วมันไม่สนุก ต้องคิดใหม่ จึงต้องถามทีมงานว่ายังสนุกอยู่ไหม แต่ทั้งนี้เราก็มีคนรุ่นใหม่มาช่วยคิดสร้างสรรค์ เช่น เพลงหาเสียงแบบใหม่ด้วยเพลง 'ชัช-ชัช-ชาติ' นอกจากนี้มีการทำ Social Listening จึงต้องมีการปรับ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญไม่แพ้โค้งสุดท้าย
"อย่าคิดว่ามีปาฏิหาริย์ เราต้องมีกึ๋น และถ้าอยากเก่งเราต้องไปยืนบนปากยักษ์ เพื่อที่จะมองอะไรให้สูงกว่ายักษ์" ชัชชาติ กล่าว
เส้นเลือดใหญ่ - เส้นเลือดฝอย กับการพัฒนานโยบาย
ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ก็เหมือนร่างกายคน มีเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอย แต่ที่ผ่านมาชอบลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่ แต่พอเป็นเส้นเลือดฝอยเข้าชุมชนเราอ่อนแอ ยิ่งเส้นเลือดฝอยตีบ ยิ่งทำงานไม่ได้ เช่น ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่เจ้าหน้าที่มีเพียง 80 คน แต่ต้องดูแลคนในชุมชน กว่า 100,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ
ชัชชาติ กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจความเห็นที่พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยว อันดับ 1 แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 98 จาก 144 เมือง ดังนั้นหากทำเมืองให้น่าอยู่ นักท่องเที่ยวจะอยากไปเที่ยวเอง และนักท่องเที่ยวอาจจะมีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีกรอบนโยบาย '9ดี' คือ บริหารจัดการดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี เรียนดี
"หลักการเอาชนะโลกได้คือ การหาเครือข่ายนอกองค์กร เพราะคนฉลาดส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใรองค์กรเรา เราต้องหาแนวร่วม เพื่อจะหาคำตอบให้เมือง" ชัชชาติ กล่าว
เปลี่ยน 'ระบบราชการ' จาก 'ระบบท่อ' สู่ 'ระบบแพลตฟอร์ม'
ชัชชาติ กล่าวว่า สมัยก่อนพนักงานราชการทำงานเป็นท่อ ส่งต่อปัญหาจากประชาชน มาที่ผู้ว่าฯ และไปสู่พนักงานอื่นๆ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์ม ใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ประชาชนทุกคนมีปัญหาก็โยนเข้ามาในแพลตฟอร์ม ไม่มีเส้นสาย เพราะทุกคนคือดิจิทัล โดยวันแรกมีคนแจ้งเข้ามา 20,000 เรื่อง แต่เมื่อผ่านมา 6 อาทิตย์ ได้รับแจ้ง 106,592 เรื่อง และแก้ไขไปแล้ว 49,268 เรื่อง โดย ปัญหา 5 อันดับแรกที่พบคือ ถนน ทางเท้า แสงสว่าง น้ำท่วม และขยะ
การพัฒนาเมืองบน 'ความแตกต่าง' และ 'จุดร่วม'
ชัชชาติ กล่าวว่า แม้ในเมืองจะมีความแตกต่างกัน แต่เรามีหลายเรื่องเป็นจุดร่วมกันได้ ซึ่งหนังก็เป็นตัวหนึ่งที่เชื่อมกันได้ แม้คนจะมาร่วมมีความเห็นแตกต่างทาการเมือง
ชัชชาติ เสริมว่า ที่ผ่านมาเราไปเน้นความขัดแย้ง แต่อนาคตเราต้องเน้นที่ความเหมือน หรือ จุดร่วม แล้วค่อยๆ แก้ปัญหา เช่น การฉายหนังเรื่อง 'รักแห่งสยาม' แม้วันนั้นจะมีผู้มีความหลากหลายทางการเมืองเข้าร่วม แต่ทุกคนมีจุดร่วมเหมือนกัน
"ตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง ถ้าเรารักเมือง อยากให้เมืองดีขึ้น ต้องมีความหวัง และผมขอเป็นผู้นำความหวัง ทำให้เมืองดีขึ้นได้" ชัชชาติ กล่าวว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวเสวนาพิเศษ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ร่วมถ่ายรูปกับนิสิตผู้โชคดี 20 คน ที่ได้ร่วมเล่นเกมตอบคำถาม 'แฟนพันธุ์แท้ ชัชชาติ' ในก่อนการเริ่มการเสวนา รวมถึงมีนิสิตที่ร่วมกันร้องเพลง 'สวัสดีวันจันทร์' เพื่อเป็นของขวัญตอบแทนให้แก่ผู้ว่าฯ กทม.