ไม่พบผลการค้นหา
‘กัณวีร์’ เผย ‘9 คณะกรรมการช่วงเปลี่ยนผ่านฯ’ ทำหน้าที่เคาะรายชื่อ ‘คณะทำงาน 7 ด้าน’ จากสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีคนนอกร่วม เสนอเฉพาะด้านที่ถนัดได้ ‘วิรัตน์’ ย้ำไม่ใช่ ครม.เงา แต่เตรียมพร้อมแก้ปัญหาได้ทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล ยังไม่เรียกข้าราชการหารือ

วันที่ 31 พ.ค. กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน เปิดเผยรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ซึ่งเน้นไปที่การจัดทำนโยบาย เพื่อเติมเต็มรายละเอียดของแต่ละวาระใน MOU ซึ่งกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ และเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

พร้อมทั้งได้ตั้งคณะทำงานเบื้องต้นไว้ 7 ชุด จากทั้ง 23 วาระใน MOU เนื่องจากเป็น 7 ประเด็นที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ควรต้องมีรายละเอียดนโยบาย โดยคณะทำงานทั้ง 7 ชุด จะเป็นตัวแทนจากแต่ละพรรคมาระดมสมองว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร ในระดับรายละเอียด เพื่อสร้างนโยบาย ขณะที่คณะกรรมการฯ จะรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดที่คณะทำงานส่งมา เมื่อคณะกรรมการฯ เห็นชอบ แล้วจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

กัณวีร์ ยังระบุว่า คณะกรรมการฯ ทั้ง 9 จะเป็นผู้เลือกว่าคณะทำงานแต่ละชุดจะประกอบด้วยใครบ้าง ซึ่งทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะต้องเสนอชื่อคนที่มีความเหมาะสมกับการทำงานแต่ละด้านมาให้พิจารณา แต่หากพรรคการเมืองใดยังไม่มีคนที่สามารถทำงานด้านนั้นได้ ก็ไม่จำเป็นต้องส่ง และทำงานในส่วนที่ตนเองถนัด

“ไม่ได้วางตัวเลขไว้ว่าแต่ละคณะทำงานต้องมีกี่คน แล้วแต่ว่าจะส่งกี่คน อย่างพรรคเป็นธรรมเอง ดูไว้ว่าจาก 7 คณะ เราจะส่งให้ครบ แต่ศักยภาพเราก็คงไม่พอ อย่างบางเรื่อง เช่น เรื่องยาเสพติด เป็นต้น ก็จะไม่ส่ง เรื่องเศรษฐกิจ เราไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น เราก็อาจไม่ส่ง จะส่งคนไปนั่งฟังก็ไม่ดี ต้องส่งคนไปนั่งทำ” กัณวีร์ ระบุ

กัณวีร์ ยืนยันด้วยว่า สมาชิกของคณะทำงานจะมาจากพรรคร่วมรัฐบาล และในเวลานี้ยังไม่มีการทาบทามบุคคลภายนอก พร้อมย้ำว่า หน้าที่ของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ จะเป็นมันสมองเพื่อจัดทำนโยบายเป็นหลัก และไม่ได้มีหน้าที่หารือเจรจากับองคาพยพต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจ หรือข้าราชการ แม้สมาชิกแต่ละคนอาจมีการพูดคุยกับนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ แต่จะไม่รวมบุคคลเหล่านั้นมาเป็นคณะทำงาน


จัดทำนโยบายพร้อมแก้ทันทีหลังเป็นรัฐบาล

ขณะที่ วิรัตน์ วรศริน เลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ชี้แจงเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของคณะทำงาน 7 ชุด โดยเผยว่าในที่ประชุมเมื่อวาน (30 พ.ค.) ได้วางคณะทำงานไว้ 5 ชุด คือ คณะทำงานด้านค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และราคาพลังงาน, ด้านภัยแล้ง เอลนีโญ ,การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและ PM 2.5 แต่ได้มีการเสนอเรื่องที่ 6-7 มา คือ ด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและ SME และด้านการแก้ปัญหายาเสพติด

โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่สรุปปัญหาในแต่ละด้านว่าจะแก้ไขอย่างไร เพื่อที่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วก็จะสามารถเดินหน้าแก้ไขได้โดยทันที ไม่ต้องรอเวลา และคณะทำงานจะรายงานผลต่อคณะกรรมการ จากนั้นต้องส่งเรื่องให้ระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบหรือแก้ไข ก่อนนำเสนอผลงานต่อสื่อมวลชน

วิรัตน์ ยังปฏิเสธว่าคณะทำงานดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะของ ‘คณะรัฐมนตรีเงา’ (ครม.เงา) เพราะไม่สามารถแทรกแซง ครม.รักษาการ ที่ยังทำหน้าที่อยู่ได้ เพียงแต่จัดตั้งคณะทำงานไว้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านต่างๆ ได้ทันทีหลังเข้าเป็นรัฐบาลแล้ว พร้อมย้ำว่าหน้าที่ของคณะทำงานคือการจัดทำแผนงานและนโยบายเท่านั้น ยังไม่มีการพูดคุยกับข้าราชการแต่อย่างใด

โดยในวันที่ 6 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ วิรัตน์ ระบุว่า จะมีการประชุมหารือนัดแรกของคณะกรรมการฯ วาระเกี่ยวกับความคืบหน้าของคณะทำงานทั้ง 7 ชุด การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นที่ทำการพรรคเพื่อไทย