วันที่ 30 พ.ค. 2566 ที่พรรคประชาชาติ ถนนสรงประภา เขตดอนเมือง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม 7 หัวหน้าพรรคการเมือง แถลงข่าวหลังประชุมร่วมกันนัดแรก โดยเผยว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกพรรคการเมือง โดยมี พิธา เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน และมีคณะกรรมการประกอบด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ จากพรรคไทยสร้างไทย วิรัตน์ วรศริน จากพรรคเสรีรวมไทย กัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม วสวรรธน์ พวงพรศรี จากพรรคเพื่อไทรวมพลัง และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ จากพรรคพลังสังคมใหม่
โดยจะประชุมครั้งต่อไป ในวันอังคารที่ 6 มิ.ย.นี้ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่อีก 7 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานด้านค่าไฟฟ้าน้ำมันดีเซลและพลังงาน, คณะทำงานด้านภัยแล้ง และเอลนีโญ, คณะทำงานด้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะทำงานด้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ, คณะทำงานด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและ PM 2.5, คณะทำงานด้านเศรษฐกิจปากท้องและเอสเอ็มอี, และคณะทำงานด้านปัญหายาเสพติด
โดยคณะทำงานเหล่านี้ จะเป็นการหาทางออกร่วมกัน แก้ไขปัญหาของประเทศในประเด็นต่างๆ ก่อนจะกลั่นกรองออกมาเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภา ให้ได้ทำงานต่อไปในฐานะฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติต่อไป ขอยืนยันว่าตอนนี้การทำงานของเราเป็นไปได้ด้วยดี และเราจะสามัคคีกัน ร่วมทำงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พิธา ชี้แจงว่า คณะกรรมการฯ ทั้งหมด ตั้งขึ้นตาม MOU ทั้ง 23 ข้อ โดยสามารถหาวาระร่วมของทั้ง 8 พรรคการเมืองได้แล้ว สำหรับวันนี้ตั้งไปแล้ว 7 คณะจาก 23 ข้อ สัปดาห์หน้าจะประชุมกันอีก เพื่อให้ได้บุคลากรที่เชี่ยวชาญเข้ามาในคณะทำงาน ภายในเวลาก่อนที่จะสามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้
พิธายังเน้นย้ำ บุคลากรในคณะกรรมการฯ ไม่ได้จัดตั้งตามกระทรวง แต่จะตั้งตาม MOU เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เสนอมาสามารถปฏิบัติได้จริง และยังเปิดโอกาสให้หัวหน้าของแต่ละพรรคมาถกกันให้ตกผลึกในแต่ละประเด็น
ส่วนการจัดสรรตำแหน่ง ครม. ในพรรคร่วมรัฐบาล พิธา ยืนยันจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งรัฐบาลเสร็จ ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะพิจารณาร่วมกัน พร้อมยืนยันเรื่องนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล โดยหวังว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะใช้เวลาไม่นานในการรับรอง ส.ส. เพื่อเร่งให้เราเข้าไปทำงานแก้ปัญหาประเทศ และจะใช้การทำงานเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง
ส่วนประเด็นที่ ส.ว. แสดงความเห็นว่า ถูกข่มขู่นั้น พิธา ยืนยันว่า ทางฝั่งเราไม่มีการข่มขู่ เป็นเพียงการพูดคุยกันเพื่อรักษาระบบรัฐสภาไว้ โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการเจรจาที่พูดคุยก็ผ่านไปด้วยดี ทั้งนี้การที่ ส.ว. จะโหวตให้พวกเราเป็นการโหวตเพื่อรักษาฉันทามติของคนไทย ส่วนตัวไม่เคยได้ยินว่ามีการคุกคาม หมดเวลาที่จะทะเลาะเบาะแว้งกันแล้ว
พิธา ยังตอบคำถามประเด็นการถือครองหุ้น ITV ยังไม่เป็นเรื่องที่ต้องกังวล โดยหลักฐานต่าง ๆ มีการปรึกษาทีมกฎหมายและอธิบายหาทางออกแล้ว แต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เพราะต้องรอดูคำร้องก่อนจึงไม่ควรให้สัมภาษณ์สิ่งที่อยู่ในกระบวนการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบางสถานีโทรทัศน์ มีการเซ็นเซอร์ข่าวจากต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถออกอากาศในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีการสัมภาษณ์ พิธา เรื่องการเมือง พิธา ตอบว่า เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของประชาธิปไตย ซึ่งพรรคของเรามีคณะทำงานที่ดูแลเรื่อง พ.ร.บ.สื่อโดยตรง
พิธา กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีสื่อ 4 สำนักที่ถูกเซ็นเซอร์ จึงต้องตอบอย่างระมัดระวัง เพราะมี 1 ใน 4 สำนักข่าวได้แจ้งกับตนแล้วว่า มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ทำไมไม่สามารถถ่ายทอดในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ยังต้องยืนยันในความสำคัญของสิทธิในการนำเสนอข่าวอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา หากมีการเซ็นเซอร์เพื่อปิดปากจริง ตนก็มีความกังวลพอสมควร
'ชลน่าน' ย้ำสองพรรคคุยเก้าอี้ประธานสภา ไม่เกิดอุปสรรคขัดแย้ง
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบข้อซักถามกรณีประธานสภาฯ โดยระบุว่า เป็นไปตามที่ พิธา ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 กล่าวไป คณะทำงานมีข้อตกลงร่วมกันชัดเจนว่า ทั้ง 2 พรรคการเมือง จะพิจารณาร่วมกัน ไม่ได้คำนึงว่าตำแหน่งจะเป็นโควต้าของพรรคใดพรรคหนึ่ง และจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพวกเราทั้ง 8 พรรค จะไม่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือแตกแยก เรามัดกันแน่นอยู่แล้ว
"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องการให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นลักษณะที่สนับสนุนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ และมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ที่มุ่งหวังจะได้รัฐบาลประชาธิปไตย และจะทำให้เร็วที่สุด เมื่อ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส.จะมีข้อยุติในประเด็นนี้ เพื่อเตรียมเข้าสู่การโหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร"
ลั่นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 'ก้าวไกล-เพื่อไทย' จะจับมือให้แน่น
นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า การทำงานร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยพูดเสมอว่า เราได้รับอาณัติจากประชาชน 25 ล้านเสียง มีเจตจำนงเช่นนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลปฏิเสธไม่ได้ ที่จะทำความฝันและความหวังของประชาชนให้บรรลุ คือรัฐบาลจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ปิดกั้นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันอยู่แล้ว
"เป็นการมัดที่แน่นกว่าการมัดอย่างอื่น เป็นข้อผูกมัดที่เราต้องคำนึงถึง ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นเราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป" จากนั้น นพ.ชลน่าน ได้จับมือกับ พิธา ก่อนที่ทั้งสองจะโอบกอดกัน โดย นพ.ชลน่าน ได้กล่าวติดตลกว่า "หวานไหมๆ"
เมื่อถามว่า หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นทำให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ พรรคเพื่อไทยและ 8 พรรคการเมืองจะทำอย่างไร นพ.ชลน่าน เชื่อว่า ทั้ง 8 พรรค จะอยู่ด้วยกันโดยที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะยังเป็นพรรคหลัก
'ชลน่าน' เปลี่ยนดีลลับเป็นดีลรัก ทำหัวใจคู่ 'พิธา' หวานเจี๊ยบ
ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ พร้อมสนับสนุนบุคลากรในภารกิจและคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งไว้ สิ่งที่คาดหวังคือนโยบายที่ดีที่สุดจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ส่วนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ จะแบ่งตามวาระที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแถลงไว้ โดยใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และตามข้อตกลงที่ลงไว้ใน MOU
"พวกดีลล้วง ดีลลับต่างๆ พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยน 'ดีลรัก' ให้หมด เพื่อรัฐบาลของพี่น้องประชาชน" นพ.ชลน่าน กล่าวทิ้งท้าย
จากนั้น พิธา และ นพ.ชลน่าน ยังได้ทำสัญลักษณ์มือเป็นรูปหัวใจ มินิฮาร์ท โชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เพื่อตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
ปมประธานสภาฯ เป็นเรื่อสองพรรคเคาะร่วมกัน
ขณะที่ก่อนการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล นพ.ชลน่าน ระบุถึงตำแหน่งประธานสภาฯ จะมีการหารือในวงประชุมหรือไม่ว่าที่ประชุมวันนี้ไม่ได้กำหนด แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลมีข้อเสนอก็สามารถยกมาพิจารณาได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะระหว่างพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าใจว่าก็จะมีคณะเจรจาพูดคุยกันเรื่องนี้อยู่แล้ว ต้องสรุปร่วมกัน
ถามต่อถึงการประชุมจะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งทางการเมือง โควตารัฐมนตรี แบ่งกระทรวง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่ในวาระพูดคุย แต่คงมีการพูดคุยกันหลังมอบภารกิจร่วมกันแล้ว
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้ประชาชนต้องการคำตอบอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องภัยแล้งในปีนี้ น้ำท่วมของหน้าฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องราคาพลังงาน เรือดำน้ำ และ เรื่องการร่วมประชุมสหประชาชาติครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนกันยายนนี้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนอาจจะถามหรือพี่น้องข้าราชการ และ เอกชน ก็อาจจะถามด้วย แล้ววันนี้เรามีเป้าหมายที่ชัดแล้วจาก MOU ที่ได้ร่วมลงนามกันไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566
โดยส่วนวันนี้จะคุยเรื่องของกระบวนการ ที่จะพาไปสู่เป้าหมายตรงนั้นจึงได้นัดประชุมในวันนี้ และเราจะนัดเรื่อยๆในทุกสัปดาห์ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ และฟังจากที่ได้ร่วมพูดคุยกัน เราจะเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาโควต้า หรือ ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นตัวตั้ง และเพื่อวางแผนต่อไปว่า หากมีการประชุม ครม.นัดแรก เราจะได้จัดลำดับความสำคัญ ที่จะบรรจุในวาระการประชุม ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ตนเตรียมมาคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 7 พรรคในวันนี้
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมากล่าวหาว่า คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เป็นการก้าวก่ายข้าราชการใช่หรือไม่ พิธา ตอบว่า ไม่มี เราทำงานเป็นคณะเปลี่ยนผ่านพูดคุยกับทุกฝ่าย แล้วถ้าข้าราชการจะคุยกับนักการเมืองก็เป็นสิทธิ์ของข้าราชการแต่เราไม่เคยไปละลาบละล้วงข้อมูล หรือแม้กระทั่งการขอดูงบประมาณ และหน่วยงานราชการเป็นคนเชิญเรามาเอง และเชิญในฐานะพรรคการเมืองมากกว่า ซึ่งเขามีความกังวลใจในหลายๆเรื่องทั้งเรื่องโครงการที่ค้างอยู่ใน ครม.ชุดที่แล้ว ยังไม่ได้รับการผลักดัน และเรามีกรอบการทำงานว่าเราไม่จะไม่ไปสั่ง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการทำงาน และทำตามหลักสากลในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และทำให้ประชาชนมีความหวัง และให้ข้าราชการมีภาระน้อยที่สุด
'วันนอร์' ชี้ถ้า 8 พรรคไม่ทำตามเอ็มโอยูพร้อมไปตามเสียงประชาชน
ขณะที่ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุภายหลังการประชุมความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเน้นย้ำว่า วันเวลาและความหวังของประชาชนใกล้เข้ามาถึงแล้ว ถึงอยากให้พวกเราร่วมใจกันทำให้เวลาและความหวังของประชาชนมาถึงอย่างเรียบร้อย ตามเจตจำนงของการเลือกตั้ง ไม่อยากให้มีฝ่ายใดยื้อเรื่องนี้ไว้ทำให้ประชาชนผิดหวัง
"ไม่อยากให้ทุกคนดูถูกว่าประชาชนนั้น ไร้ซึ่งอำนาจ ผมอยากให้ทุกคนมองเห็นว่าความหวังของประชาชนเป็นสิ่งที่มีพลัง ถ้าเราปล่อยเรื่องนี้ สิ่งที่เราไม่ต้องการอาจจะเกิดขึ้นก็ได้"
"ส่วนคณะของเราจะทำงานได้มากน้อยแค่ไหน มีเครื่องชี้วัดคือประชาชนนั่นเอง เราจะอยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่ทำตามคำมั่นสัญญาหรือ MOU ที่เราได้ให้ไว้แล้ว และผมเชื่อว่าพวกเราพร้อมจะไป เมื่อประชาชนเขาไม่ต้องการเรา เราจะไม่ยื้อทำงานจนกระทั่งมีพลังมากดดันเรา ไม่จำเป็น
"ในทางการเมืองนั้น มาได้ ก็ไปได้ ถ้าประชาชนต้องการ และเราพร้อมจะไป เมื่อประชาชนไม่ต้องการ หรือเห็นว่าอยู่ไปไม่เกิดประโยชน์"
ห่วงรับรองผลเลือกตั้งช้ากระทบตั้งรัฐบาลช้า
วันมูหะหมัดนอร์ ยังกล่าวต่อไปว่า ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำมาสู่ความสุขความเจริญในประเทศ อย่าให้มีการดูถูกว่า เมื่อประชาชนหวังแล้ว เราผลักความหวังเขาออกไป ตนเกรงว่าพลังของประชาชนนั้นจะมีมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดอะไร อยากให้เราช่วยกัน เราเหลืออีกเพียงนิดเดียว
ทั้งนี้ เราจะนับหนึ่งก็ต่อเมื่อ กกต. รับรอง ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา กกต. จัดการเลือกตั้งได้สงบเรียบร้อยพอสมควร หน่วยเลือกตั้งมีจำนวนมาก อาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ก็มีระบบของมัน จึงหวังให้กกต. รับรองผลเพื่อดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เสียเวลาเพียงสัปดาห์เดียวหรือวันเดียวก็มีค่าสำหรับประชาชน
วันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า ตนไม่ได้กดดัน กกต. แต่หากปล่อยให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะส่งผลต่อข้อกังวลและความเชื่อมั่น ไม่ใช่เพียงต่อ 8 พรรคร่วมรัฐบาลนี้เท่านั้น แต่ทั้งประเทศ จึงไม่ควรปล่อยให้ความหวังของประชาชนต้องสลายไป ควรรีบดำเนินการเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว
ข้าราชการไม่ต้องกลัวพรรคใหม่
ด้าน ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า โดยระบุว่า หลังจากพรรคเป็นธรรมได้ร่วมลงนามใน MOU ตนได้รับการติดต่อเป็นจำนวนมากจากเพื่อนในแวดวงข้าราชการ แสดงความห่วงใยต่อการทำงานของรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น ถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง
ตนขอฝากไปยังเพื่อนข้าราชการว่า อย่าได้กังวลว่าการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อตำแหน่งงาน หรือทำให้เกิดผลกระทบ
"ขอน้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน' นัยสำคัญคือ หากเพื่อนข้าราชการทำงานเพื่อประโยชน์ของมหาชนแล้ว ท่านอย่ากลัวพรรคใหม่ที่จะเข้าไป พรรคเราจะทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง"
ปิติพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า แต่ถ้าท่านใดทำอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเพื่อน กกต.ที่ทำงานล่าช้า พยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 ของเราก็มีเวลาให้ท่านโดยจำกัดเช่นกัน
ส่วนกรณีหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีผู้ร้องนั้น พรรคเป็นธรรมได้ส่งคณะทำงานด้านกฎหมายเข้าไปตรวจสอบแล้ว ขอยืนยันกับผู้ร้อง และผู้ที่มีความห่วงใยทั้งหลายว่า คุณพิธา มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีความชอบธรรม และทีมกฎหมายของพรรคเป็นธรรมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้คำร้องดังกล่าวถูกตีตกไปในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ ของ 8 พรรคที่เข้าร่วมการประชุม อาทิ พรรคไทยสร้างไทย นำโดย สุพันธ์ มงคลสุธี แคนดิเดตนายกฯ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรค น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรค
พรรคประชาชาติ นำโดยวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค วรวีร์ มะกูดี อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ปิติพงษ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค
พรรคเสรีรวมไทย วิรัตน์ วรศริน เลขาธิการพรรค และ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรค และพรรคพลังสังคมใหม่ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรค
พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ศิริกัญญา ตันสกุล รองหน้าหน้าพรรค
พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรค