ไม่พบผลการค้นหา
'รังสิมันต์' มองประธานรัฐสภาสั่งงดประชุม ทำให้การโหวตนายกฯ อยู่บนความไม่แน่นอน เผย 'ก้าวไกล' จ่อเสนอสภาทบทวนมติที่ผิดพลาด ปลดล็อกเสนอชื่อ 'พิธา' ซ้ำได้ ศาล รธน. ไม่ต้องมาแทรกแซง

วันที่ 25 ก.ค. ที่อาคารไทยซัมมิต รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรค เปิดเผยสาระในการประชุม สส. ของพรรคก้าวไกล เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ แต่สุดท้ายประธานรัฐสภามีคำสั่งงดประชุม ที่ประชุมวันนี้จึงมีข้อถกเถียง หลายประเด็น 

ประเด็นแรก ด้วยการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 27 ก.ค. ที่จะถึงนี้ มี 2 วาระ ได้แก่วาระการเลือกนายกรัฐมนตรี และวาระที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ สว. สุดท้ายงดประชุม จนไม่สามารถพิจารณาวาระใดได้เลย เรามีความจำเป็นต้องเลือกนายกฯ อย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอคอยได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การพิจารณาเลือกนายกฯช้าออกไป

ถึงแม้ประธานรัฐสภาจะอ้างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยกรณีสภาฯ มีมติโหวตชื่อ พิธา ลื้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นญัตติซ้ำ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เหตุใดจึงไม่นำวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณา เป็นการหาทางออกให้ สว.เดินหน้าออกจากความขัดแย้งเรื้อรัง

"อีกทั้ง การรอคอยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกนายกฯ อยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ทำให้การเลือกนายกฯ เนิ่นช้า สภาฯ ไม่สามารถหาทางออกให้สังคมได้"

รังสิมันต์ ย้ำว่า พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นการทำงานสภาฯ เราไม่อยากให้แทรกแซงสภาฯ โดยศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว พรรคก้าวไกลขอเสนอทางออกโดยการพิจารณาข้อบังคับการประชุม สามารถยื่นญัตติให้สภาฯ ทบทวนมติที่เคยมีไปแล้วได้ โดยการประชุมสภาฯ นัดถัดไป พรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติให้พิจารณาทบทวน หากสภาฯ เห็นด้วย จะถือเป็นการปลดล็อกทำให้การเลือกนายกฯ ที่ผูกพันกับญัตติเดิม สามารถเสนอบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ ซ้ำได้

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลมีความคิดที่จะเสนอชื่อ พิธา ซ้ำหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่าพรรคก้าวไกลให้พรรคเพื่อไทยเสนอบุคคลที่มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าใจว่าคือ เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่การเสนอของเราเพื่อปลดล็อกสิ่งที่ผิดพลาด สภาไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เราสามารถดำเนินการกันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะเป็นการตอกย้ำหรือไม่ว่าการให้เก้าอี้ประธานสภาฯ กับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นความผิดพลาด รังสิมันต์ กล่าวว่า บริบทในตอนนั้นมีความเห็นเรื่องผู้ที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ไม่ตรงกัน จึงได้ถอยคนละก้าว เพื่อให้ วันมูหะมัดนอร์ เข้ามาเป็นประธานสภาฯ มองว่า ท่านมีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คงไม่สามารถไปวิจารณ์การทำหน้าที่ได้ ประชาชนต้องช่วยกันพิจารณา

ส่วนการเสนอทบทวนมติดังกล่าว จะทำให้เรื่องที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถูกตีตกไปด้วยหรือไม่นั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า คงต้องพิจารณาในข้อกฎหมาย พร้อมย้ำว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลควรเร่งทำ 

ขณะที่การปลดล็อกข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 จะทำให้เสนอ พิธา ซ้ำได้ จะทำให้น้ำหนักการจัดตั้งรัฐบาลกลับมาที่พรรคก้าวไกลหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ควรให้มีการโหวตเลือกนายกฯ ก่อนว่าสำเร็จหรือไม่ แล้วค่อยมาหารือกับ 8 พรรคร่วม และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าเลือกตั้งมาแล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ 

"ผมไม่ได้บอกว่าให้รอถึง 10 เดือน แต่หาก 8 พรรคร่วมจับมือกันเข้มแข็งเพียงพอ เชื่อว่าถึงที่สุดฝ่ายที่พยายามทำให้เราแตกแยก ใช้กลไกต่างๆ ข้ามขั้ว จะไม่มีทางเกิดขึ้น ระยะเวลา 10 เดือน จึงอาจไม่ใช่ 10 เดือนจริงๆ" 

ส่วนที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้ความเห็นว่าพรรคก้าวไกลควรถอยออกมา หลังพรรคเพื่อไทยได้นายกฯ อาจจะดึงพรรคก้างไกลกลับไปร่วมรัฐบาล ถือเป็นความเห็นส่วนตัว ตนเองไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบ ขึ้นอยู่กับการหารือของ 8 พรรคร่วม ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ