นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการเรียนออนไลน์พบว่ามีปัญหาความไม่พร้อมหลายเรื่อง ทั้งผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายซื้อมือถือ เสียค่าเน็ต ระบบอินเทอร์เน็ตล่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ ตนเห็นว่า 1. การเรียนออนไลน์แม้มีประโยชน์ แต่ควรเป็นการเรียนเสริมการเรียนในห้องเรียน เนื่องจากการสื่อสารสองทางหรือการปฏิสัมพันธ์แบบผู้เรียนเจอครูในห้องจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า เช่นการตั้งคำถาม การกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ โดยเฉพาะเด็กเล็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษานั้น การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผลดีเหมือนผู้เรียนที่อายุมาก
2. ความไม่พร้อมของระบบอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ และเครื่องมืออุปกรณ์ยังไม่พร้อม เด็กจากครอบครัวยากจนจะพร้อมน้อยกว่า สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงมีคำถามว่ารัฐบาลทำงานเกือบ 1 ปีได้เตรียมการและทำอะไรไปบ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านนี้
3. กระทรวงศึกษาฯ และหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษาควรตั้งเป้าคืนห้องเรียนปลอดภัยให้นักเรียนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อเลย เพราะเด็กควรได้ไปโรงเรียนเพื่อพัฒนาการทางด้านอื่นๆ เช่นร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาด้วย ยิ่งเปิดเทอมช้ายิ่งกระทบการเรียนรู้
นายนพดล เพิ่มเติมว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ไทยยิ่งจำเป็นต้องเตรียมคนให้มีทักษะและสมรรถนะพร้อมเผชิญความผันผวนของโลกในศตวรรษที่ 21 การศึกษาและการสร้างสมรรถนะให้คนไทยจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จ ช้าไม่ได้แล้ว ผู้บริหารต้องรู้และลำดับความเร่งด่วนของปัญหาใหญ่ๆ ด้านการศึกษาและมีความสามารถในการทำงานให้เสร็จ เพื่อตามโลกให้ทัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง