ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนครบ 30 วันหลังการเลือกตั้งนายก และสภา อบต. ในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทยอยประกาศรายชื่อนายก อบต. และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ครบทั้งประเทศแล้ว โดยมีเพียงบางพื้นที่ที่ยังต้องมีการสอบสวนข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายให้ขยายเวลาประกาศชื่อเป็น 60 วันหลังการเลือกตั้ง
เลือกตั้ง อบต.


  • จำนวนอบต.ทั้งประเทศมีอยู่ 5,300 แห่ง มีพื้นที่ที่ได้นายก อบต. คนใหม่สูงถึง 67% และมีอยู่ 23 คนที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียน และสัดส่วนนายก อบต.ผู้หญิงตอนนี้อยู่ที่ 8% เท่านั้น 
  • ในส่วนของผู้มาใช้สิทธิรอบนี้ก็สูงถึง 74.58% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอบต.ที่มีอยู่ราว 27.4 ล้านคน สูงกว่าตอนเลือกตั้งนายก อบจ.ช่วงปลายปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 62.86%
  • เมื่อคนกลับบ้านไปใช้สิทธิกันสูง รถติดทั้งขาเข้าขาออก บ้างก็ว่า เป็นเพราะประชาชนตื่นตัวกันมาก หลังจาก คสช.ฟรีซการเมืองถิ่นไม่ให้มีเลือกตั้งมา 8 ปี บ้างก็ว่า เป็นเพราะการเมืองท้องถิ่นมีการ 'ใช้เงิน' กันกว้างขวางและมูลค่าก็สูงขึ้นทุกวัน 
  • การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้เลือกตัวแทนเพื่อบริหารงบประมาณเอง เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่าง 'เป็นทางการ' หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 คณะราษฎรหวังจะจัดตั้งเทศบาลขึ้นในทุกพื้นที่ 4,800 ตำบลในขณะนั้น แต่ก็จัดตั้งได้เพียง 35 แห่ง และก่อนสิ้นสุดของยุคคณะราษฎร (ก่อนรัฐประหารปี 2490) สามารถจัดตั้งได้เพียง 117 แห่งเพราะสถานการณ์ทางการเมืองความพลิกผันเกือบตลอดเวลาประกอบกับการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาไทยก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเป็นส่วนใหญ่ 
  • การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำได้จริงเมื่อเกิดกระแสการปฏิรูปการเมือง นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดเรื่องนี้เป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ และออกขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจและทรัพยากร โดยกำหนดว่า อปท. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลกลางไม่น้อยกว่า 20% ภายในปี 2544 และให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่า 35% ภายในปี 2549
  • ปัจจุบัน รัฐบาลให้งบท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 29.4% ของรายได้รัฐทั้งหมด แต่ เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ระบุว่า หากดูไส้ในงบประมาณส่วนท้องถิ่นจะเต็มไปด้วย 'งบฝากจ่าย' ที่มาจากนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง เช่น งบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ งบเงินสนับสนุนผู้พิการ งบนมโรงเรียน ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 180,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 70% ของงบอุดหนุนท้องถิ่น เมื่อหักออกแล้วจะเหลืองบที่ท้องถิ่นนำไปพัฒนาพื้นที่ตัวเองได้จริงๆ เพียง 20.1% 
  • "สว.วันชัยสาบานให้ตายกลางที่ประชุมวุฒิสภา ปูดเลือกตั้ง อบต.ซื้อเสียงกันแหลก บางจังหวัดสูงถึงหัวละหมื่นบาท ฝากมหาดไทยปลุกจิตสำนึกประชาชน" โปรยข่าวจากเว็บแนวหน้าที่อาจทำให้หลายคนไม่พอใจว่า ถึงยุคนี้ยังมีการดูถูกประชาชนกันอีกหรือ 
  • อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า การเลือกตั้ง อบต.หนนี้ 'ยิงกันแหลก' (ยิง = จ่ายเงิน) จริงๆ แม้ไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่นทุกคนที่ทำเช่นนั้น และแม้ประชาชนจะตื่นตัวทางการเมืองมากแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มากพอจะเปลี่ยน 'ธรรมเนียม' นี้ ที่สำคัญ โดยสภาพการณ์การซื้อเสียงก็พัฒนาไปมาก ไม่ใช่การซื้อหว่านอย่างในอดีต แต่มียุทธศาสตร์อุดจุดอ่อนในพื้นที่จำกัด ทำให้ยิ่งสู้กันหนัก เนื่องจากผลประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นไม่น้อยเลย 
  • ถามว่า อบต. เล็กๆ งบประมาณไม่เท่าไร จะมีผลประโยชน์อะไรหนักหนา อย่าลืมว่าหากมีการ 'กินเปอร์เซ็นต์' ในงบลงทุน การดำรงตำแหน่งยาว 4 ปีก็นับว่าได้มูลค่าสูงอยู่ และยังอาจแฝงมาในรูปแบบ 'ค่าโยกย้ายข้าราชการ' ใครอยากย้ายมาในพื้นที่ก็ยอมจ่าย ดังที่เคยมีคำกล่าวล่ำลือกันว่า 'ซีละแสน' ฯลฯ  
  • นอกจากนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นยังเกี่ยวโยงกับการเมืองระดับชาติด้วย หลังการเลือกตั้ง อบต. 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ถึงกับกระหยิ่มในความสำเร็จหลุดปากว่า พปชร.กวาด 4,500 ที่นั่ง ก่อนให้สัมภาษณ์อีกทีว่าหมายถึงคนที่ได้ 'เขาเป็นสมาชิกพรรค'
  • แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวว่า การหนุนหลังจากการเมืองในระดับใหญ่กว่า เช่น อบจ. หรือ ส.ส.ในนามส่วนตัว หรือกระทั่งในนามพรรคการเมืองนั้นมีอยู่จริง แต่จะไม่พูดกันตรงๆ เป็นลักษณะของการปล่อยข่าวในพื้นที่ว่าคนนี้คนของ ส.ส.คนไหน ยิ่งถ้าเป็นคนของ ส.ส.พรรครัฐบาลยิ่งได้เปรียบ เพราะนั่นหมายความว่า ส.ส.ก็จะไปช่วยผลักดันงบประมาณมาพัฒนาได้ง่าย เพราะ ส.ส.ก็จะใช้เวทีสภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎรหรือกรรมาธิการในการตั้งคำถาม ตั้งกระทู้ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาอะไร เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือกระทั่งผลักดันกันอ้อมๆ ให้งบประมาณมาลงในพื้นที่นั้นๆ
  • "หมุดหมายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าอยู่ที่หมู่บ้าน ตำบล เพราะถ้าชนะเลือกตั้ง อบต. ก็ใช้ฐาน อบต.ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่างตอบแทน แม้ออกตัวไม่ได้ แต่ช่วยอย่างไม่เป็นทางการได้ ประชุมลูกบ้านทีก็สอดแทรกนโยบายผู้สมัครที หรือในบางพื้นที่ หากไม่ปฏิเสธความจริง คนเหล่านี้จะเป็น 'หัวคะแนน' ในความหมายแบบเก่าคือรับเงินจาก ส.ส.มาแจกชาวบ้าน คอยช่วยวิเคราะห์ว่าในพื้นที่บอดส่วนไหน ต้องใช้เงินตรงไหน" แหล่งข่าวกล่าว 
  • นอกจากนี้พรรครัฐบาลยังได้เปรียบในการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะมีงบอุดหนุนที่จัดสรรผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เมื่อกรมส่งเสริมฯ เป็นคนชี้ขาดว่าจะให้พื้นที่ไหน บอสของกรม ก็ไม่ใช่ใคร คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง
  • ยังไม่นับ'งบรองนายฯ' เพราะรองนายกฯ แต่ละคนจะแบ่งกันรับผิดชอบเป็นกลุ่มจังหวัด ในทางการเมืองก็คือ เมื่อมีงบส่วนนี้ จะใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับฐานเสียงตัวเองมากที่สุด 
  • ส่วนทางออกของปัญหานั้น หลายภาคส่วนเสนอกันมากมาย ซึ่งอาจต้องเริ่มง่ายๆ ว่า 'กระจายให้จริง'

ทั้งงบประมาณที่ควรจะให้ท้องถิ่นถึงเป้าเสียที และไม่ต้องเอางบอุดหนุนไปผ่านให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีอำนาจชี้ขาด ขยายอำนาจการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น

ทั้งการตัดสินใจ ที่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นไม่ควรต้องขึ้นต่อผู้ว่าฯ นายอำเภอ อย่างที่ปัจจุบัน ผู้ว่าฯ นายอำเภอต้องเป็นคนเซ็นรับรองเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติของท้องถิ่น กระทั่งนายก อบต. เทศบาล จะไปราชการต่างจังหวัดยังต้องขอนุญาตผู้ว่าฯ นายอำเภอ 

ทั้งบุคลากรที่ปัจจุบันมีไม่เพียงพอ บางพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แต่ฝ่ายบรรเทาสาธารณภัยมีแค่ 3 คน ทำให้หน้าที่ช่วยเหลือประชาชนตกเป็นของ 'ทหาร' โดยปริยาย อีกทั้งหลังการรัฐประหารปี 2557 มีการออกระเบียบดึงอำนาจคัดเลือกบุคคลของท้องถิ่นกลับคืนสู่ส่วนกลาง ให้กรมส่งเสริมฯ จัดสอบแบบทั้งประเทศ แทนที่จะให้คณะกรรมการจังหวัดใครจังหวัดมันจัดการ ทำให้เปิดสอบล่าช้า จัดสรรไม่ทันกับความต้องการท้องถิ่น และเกิดระบบ 'เด็กเส้น' ได้ง่าย 

ทั้งการตรวจสอบจากประชาชน ปัจจุบันยังไม่มีกลไกให้ประชาชนตรวจสอบ - ถอดถอน ตัวแทนของเขาได้โดยตรง