ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการต่อสู้ในสนามการเมืองท้องถิ่น ในรายการ Talking Thailand เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2565 โดยระบุถึงภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้ตัวแทนจากคณะก้าวหน้าจะไม่ได้รับเลือกตั้งในตำแหน่ง นายกฯ อบจ. แต่ก็ได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ. ทั้งหมด 57 ตำแหน่งทั่วประเทศ
ส่วนการเลือกตั้งในระดับเทศบาลคณะก้าวหน้าได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้ทำงานในตำแหน่งฝ่ายบริหารโดยมีตัวแทนได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรี 16 แห่ง และมีสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งอีกประมาณ100 คน
และในการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คณะก้าวหน้าได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือกให้เป็น นายกฯ อบต. ทั้งหมด 38 แห่ง สำหรับภาพรวมของพื้นที่ มีทั้งพื้นที่ที่เป็นชนบท กึ่งเมืองกึ่งชนบท และพื้นที่เมือง
ธนาธรย้ำว่า ปัจจัยที่ทำให้คณะก้าวหน้าได้รับการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่มีหลายเหตุผล โดยเฉพาะในระดับการเมืองท้องถิ่นนั้น กระแสการเมืองระดับชาติมีผลน้อยตัวผู้สมัคร การที่ผู้สมัครของเราสามารถยืนยันได้ว่าจะยืนเคียงข้างประชาชนในวันที่เขาลำบากเป็นปัจจัยเหตุผลหลักที่ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ในสนามการเมืองระดับชาติในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นได้ชัดคือประชาชนเลือกตัวนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่จะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงมีกระแสการเมืองระดับชาติที่เข้ามาช่วยอุ้มตัวผู้สมัคร ส.ส. ฉะนั้นโจทย์จึงเป็นคนละโจทย์กัน
“ในกรณีของเทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดที่เราได้รับการเลือกตั้ง เรามีผลงานจากการทำงานมาเป็นลมหนุน ทำให้ในจังหวัดร้อยเอ็ดเราชนะการเลือกตั้งในระดับ อบต. เพิ่มอีก 8 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง”
ธนาธรเก่าย้อนไปถึงสมัยที่เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า พรรคอนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส. ที่เป็นที่น่าพึงพอใจก็จริง แต่ไม่ได้เข้าไปทำงานในฝ่ายบริหาร เมื่อพรรคถูกยุบ และปรับเปลี่ยนมาเป็นคณะก้าวหน้าในการเลือกตั้งระดับ อบจ. ก็ยังไม่ได้ทำงานในฝ่ายบริหารอีกเช่นกัน แต่พอมาถึงการเลือกตั้งในระดับเทศบาลคณะก้าวหน้าได้ทำงานในฝ่ายบริหาร และทำงานได้มีประสิทธิภาพจริง และสิ่งที่ทำ สิ่งที่ผลักดันช่วยส่งผลให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“สิ่งเหล่านี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในแง่ที่ว่าเป็นการลบคำสบประมาทเดิมตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงคำสบประมาทที่มีมาถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบันด้วยว่า ถ้าได้รับอำนาจไปบริหารเป็นหรือเปล่า ทำเป็นหรือเปล่าผมคิดว่าสนามนี้คือการพิสูจน์”
เขากล่าวต่อว่า การทำงานท้องถิ่นอย่างที่คณะก้าวหน้าทำอยู่ จะทำให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจ เพราะเราไม่ได้เข้ามาด้วยความฉาบฉวย แต่เราเข้ามาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีโครงสร้างหัวคะแนน แบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฉะนั้นจึงไม่สามารถสร้างฐานการเมืองได้เลย หากไม่เริ่มที่การสร้างฐานที่การเมืองท้องถิ่น และที่ผ่านมาพวกเราคิดเสมอว่า การทำงานทางการเมือง เป็นการทำงานในระยะยาว ไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และสร้างประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยได้ภายในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว
สำหรับการทำงานบริหารในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีตัวแทนที่สังกัดคณะก้าวหน้าเข้าไปทำงานนั้น ธนาธรระบุว่า ทางคณะก้าวหน้าได้เข้าไปช่วยทำงานในหลายระดับทั้งการคิดโครงการ วิเคราะห์โครงการ วิเคราะห์การลงทุน วิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุน ให้คำปรึกษา หรือบางที่มีนายกฯ ซึ่งเก่งอยู่แล้วก็ทำเพียงแค่เข้าไปให้กำลังใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด หากเราได้ทำงานต่อไปสัก 5 ปี 10 ปี คณะก้าวหน้าจะกลายเป็นแหล่งองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นซึ่งจะร้อยเรียงวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่มารวมกันจัดการเป็นศูนย์องค์ความรู้ขนาดใหญ่
ธนาธรกล่าวถึงปัญหาการทำงานในระดับท้องถิ่นที่พบในช่วงที่ผ่านมาว่า มีความขัดแย้งอยู่บ้างระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับส่วนกลางภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารของคณะก้าวหน้าหรือกลุ่มใดก็ตาม ปัญหาหลักที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยกำลังเผชิญคือ การไม่มีอิสระในการบริหารงาน และการไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ ซึ่งนี่คือภาพสะท้อนปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งประเทศไทยเอาไว้คือ รัฐราชการรวมศูนย์
“การที่อำนาจ และงบประมาณกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างเมืองกับชนบท และเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถดึงศักยภาพของคนในพื้นที่มาพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาเองได้”
ธนาธรมีข้อเสนอว่า การจัดเก็บภาษีในระดับท้องถิ่นนั้น ควรจะจัดสรรไว้ให้ท้องถิ่นนั้นๆ อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันนั้นส่วนกลางรับภาษีไป 70 เปอร์เซ็นต์ ท้องถิ่นได้รับจัดสรรเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาพร้อมกับภาระกิจต่างๆทั้งนมโรงเรียน เบี้ยผู้สูงอายุ แล้วก็บอกว่านี่คืองบประมาณในส่วนของท้องถิ่นแต่งบประมาณก้อนนี้ถูกกำหนดไว้หมดแล้วว่าจะถูกใช้อย่างไรบ้าง และฝ่ายบริหารในท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ
“50:50 ตรงนี้เป็นมาตรฐานที่วางเอาไว้ แต่ใน 50 ที่จะแบ่งกันใน 7 พันกว่า อปท. จะต้องถ่วงน้ำหนักด้วยปัจจัยต่างๆเช่น พื้นที่ที่มีจำนวนประชากรมาก พื้นที่ที่มีความยากจน พื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ และพื้นที่ที่มีจำนวนตารางกิโลเมตรมาก ทั้งหมดจะต้องถูกนำมาถ่วงน้ำหนัก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำใรการจัดสรรงบประมาณ”
เขาย้ำด้วยว่า จากการลงไปสัมผัสและทำงานในระดับท้องถิ่น ทำให้พบว่า ท้องถิ่นมีศักยภาพสูงมาก แต่ถูกจำกัดศักยภาพของตัวเองด้วยการที่อำนาจและงบประมาณถูกยึดโยงเข้ากับส่วนกลางมากเกินไป
“ผมไม่ได้หวังว่าคณะก้าวหน้าจะยึดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 3,000 แห่งได้ 5,000 แห่ง แล้วปรับปรุงท้องถิ่นให้มันดีขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะหาผู้สมัครลง 5,000 ที่หรือ 7,000 ที่ แต่สิ่งที่เราหวังคือเราต้องการสร้างท้องถิ่นที่เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อป่าวประกาศว่า ถ้าท้องถิ่นดี มีงบประมาณมากกว่านี้ มีอำนาจมากกว่านี้ประเทศไทยก็ไปได้ไกลมากกว่านี้”