ไม่พบผลการค้นหา
รบ.สหราชอาณาจักร เดินหน้าสร้างสัมพันธ์การค้าใหม่หลังแยกตัวอียู มอง CPTPP จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยผู้ประกอบการเรื่องภาษีได้

รัฐบาลอังกฤษแถลงความพร้อมในการเข้ายื่นคำร้องการขอร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของกรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่จะถึงนี้

‘ลิซ ทรูซส์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศจะเป็นผู้แทนเข้าหารือกับรัฐมนตรีจากนิวซีแลนด์และญี่ปุ่น 

ใจความตอนหนึ่งของแถลงดังกล่าวระบุว่า ด้วยสถานะประเทศที่แยกออกจากสหภาพยุโรปแล้ว สหราชอาณาจักรในฐานะประเทศการค้าที่มีอิสระ สามารถเข้าร่วม CPTPP เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าและเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตสูง อาทิ เม็กซิโก, มาเลเซีย และเวียดนาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเมินมูลค่าของกลุ่มความร่วมมือนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านปอนด์ หรือประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ทั้งยังเติบโตเฉลี่ยปีละ 8% นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา 

บอริส จอห์นสัน เอเอฟพี
  • บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรชี้ว่า นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรแยกออกมาจากอียูเป็นเวลา 1 ปีเต็ม บัดนี้ประเทศกำลังสร้างสัมพันธ์ทางการค้าใหม่ที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลในเชิงเศรษฐกิจให้กับคนในชาติ 

ขณะ รมว.การค้าระหว่างประเทศเสริมว่า ผลดีอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้จากการเข้าร่วม CPTPP ของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ คือผู้ประกอบการยานยนต์และวิสกี้สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศปลายทางโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับภาษีนำเข้าของประเทศปลายทางเหล่านั้น อาทิ กรณีการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศมาเลเซีย ที่ปัจจุบันบริษัทผู้นำเข้ารถสัญชาติอังกฤษของมาเลเซียต้องเสียภาษีสูงถึง 165%

CPTPP ประกอบได้ด้วย 11 ประเทศ สมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน ดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, ญีปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ประเทศที่ให้สัตยาบันกับความร่วมมือดังกล่าว คือ เม็กซิโก, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์  

อ้างอิง; BBC, Nikkei Asian Review, NHK, GOV.UK

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;