ไม่พบผลการค้นหา
ศรีสุวรรณ จรรยา นำชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ยื่นรายชื่อคัดค้านการทำเหมืองหิน ชี้ EIA จัดตั้งโครงการส่อบิดเบือน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า วันนี้ (28 ม.ค.) ได้นำชาวบ้านอำเภอทุ่งเสลี่ยมที่เข้าชื่อกัน 928 รายมายื่นคัดค้านการทำเหมืองหินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ในฐานะประธานคณะกรรมการแร่จังหวัดสุโขทัย สืบเนื่องมาจากชาวบ้านที่อาศัยและมีที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย กำลังได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย

อันเนื่องมาจากการที่มีบริษัทเอกชนหรือตัวแทนผู้ประกอบการเหมืองแร่ เข้ามาดำเนินการยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านกลาง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ารายงานที่อุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัย ได้จัดทำไว้มีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง 

เช่น รายงานว่าในพื้นที่เป็นป่ามันสำปะหลัง มีหญ้าคาปกคลุม มีน้ำในบางฤดูกาล ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเนื่องจากพื้นที่ที่เอกชนยื่นขอประทานบัตรดังกล่าว เป็นแหล่งที่มีน้ำซึมน้ำซับที่ยังมีการไหลออกมาเป็นแหล่งต้นน้ำของชาวบ้านในการใช้ทำนา ทำสาน มากกว่า 2,000 ไร่ ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวในอดีตเคยมีการอนุญาตให้ระเบิดหินทำเหมืองมาก่อนแล้ว ก่อปัญหาไว้กับชาวบ้านมากมาย 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการจะได้ใช้สิทธิขอประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ 2560 แล้วก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัยได้เข้าไปทำประชาคมกับชาวบ้านแล้วผลปรากฏว่าชาวบ้านทั้งหมดคัดค้าน แต่หน่วยงานรัฐกลับยังเดินหน้าที่จะอนุมัติประทานบัตรให้จงได้

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงได้ร่วมกับชาวทุ่งเสลี่ยมในการเข้าชื่อกันตามมาตรา 43(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 มายื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ในฐานะประธานคณะกรรมการแร่จังหวัดสุโขทัย 

โดยเรียกร้อง 1.ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จังหวัดสุโขทัยและคณะกรรมการแร่จังหวัดสุโขทัย ระงับการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม ในพื้นที่ ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งจะกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ แหล่งต้นน้ำและความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนโดยทันที หรือ 

2.สั่งการให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอประทานบัตรดําเนินการจัดทำ EIA และนำข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน มาจัดทำประชามติของประชาชนใน ต.กลางดงทั้งตำบล โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมายอันเป็นกระบวนการตามที่มาตรา 43 ประกอบมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนไว้