ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 และ ภาคีเครือข่าย จัดเสวนาในหัวข้อ “การทุจริต และ ประพฤติมิชอบของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ก่อนการเลือกตั้ง”

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นางรสนา โตสิตระกูล คณะตรวจสอบภาคประชาชน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จัดกิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ “การทุจริต และ ประพฤติมิชอบของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ก่อนการเลือกตั้ง”

นายศรีสุวรรณกล่าวบางช่วงบางตอนในการเสวนา ว่า คำสั่งการดำเนินการนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นั้น มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนภาคเอกชนอยู่ตลอด และไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คสช.ได้ กระทั่งองค์กรอิสระเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และอีกหลาย ๆ โครงการที่พบพิรุธการทุจริตอย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้นแล้ว ตนเองจึงอยากให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คสช. เพราะมีหลายเรื่องที่หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรอิสระ ไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ อาทิ คดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จนขณะนี้เวลาผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ป.ป.ช. ก็ยังไม่สามารถชี้มูลความผิดได้

ด้าน นายธีระชัย กล่าวบางช่วงบางตอนในการเสวนา ว่า รัฐบาล คสช. ควรมีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เปรียบกลุ่มนายทุน เป็นอวัยวะส่วนหัว กลุ่มชนชั้นกลาง เป็นลำตัว และกลุ่มชนชั้นล่าง เป็นขา ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะนำเลือดส่วนหัว และลำตัว มาล่อเลี้ยงขา โดยให้ความสำคัญกับการดูแลกลุ่มชนชั้นล่างเป็นสำคัญที่สุด เพราะมีโอกาสน้อยกว่าชนชั้นอื่น ๆ แต่ประเทศไทยกลับทำตรงกันข้าม คือ นำเลือดจากขา และ ลำตัว มาหล่อเลี้ยงหัว คือ ให้ความสำคัญกับกลุ่มนายทุนเป็นหลัก

อาทิ มอบหมายโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการ ให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ทำให้รัฐบาลเสียผลประโยชน์อย่างมาก เพราะรายได้จากบางโครงการควรเป็นของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาล อีกทั้งบริษัทเอกชนนั้น ไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบที่มาของรายได้ ทำให้ไม่ทราบตัวเลขรายได้ในแต่ละโครงการ ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจที่มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบที่มาของรายได้ทั้งหมด ทำให้สามารถคำนวนตัวเลขที่เข้าสู่ภาครัฐได้ชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม