ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน” เพื่อเสนอแนะแนวทางการใช้งบประมาณของประเทศอย่างคุ้มค่า สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆ กัน
ธนาธรระบุว่าหากดูจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตทุกปี แต่โตในอัตราต่ำ โตช้ากว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน รวมถึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นทุกปี หากเราจะต้องใช้เงิน 5 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะไม่สามารถดันเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้อย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยธนาธรเสนอว่าหากมีเงิน 5 แสนล้าน สิ่งที่ควรจะทำก็คือการกระจายเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน นอกเหนือจากงบประมาณประจำที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว โดย 5 ด้านที่ว่านี้ ได้แก่ การสาธารณสุข การคมนาคม น้ำประปาดื่มได้ การจัดการขยะ และการศึกษา
• สร้างระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ทั่วประเทศ 60,900 ล้านบาท
• รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท
• น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท
• ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท
• จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท
รวมใช้เงินทั้งหมด 456,900 ล้านบาท
ในด้านการสาธารณสุข ธนาธรเสนอว่าการทำเทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ ไม่ต้องรอคิวตรวจที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง โดยมีเครื่องตรวจวัดความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพต่างๆ ในทุกหมู่บ้าน เก็บขึ้นคลาวด์อย่างเป็นระบบ สามารถพบแพทย์ได้ผ่านหน้าจอ หากอาการป่วยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เทเลเมดิซีนไม่เพียงทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใข้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล
แต่ยังจะทำให้ไทยมีระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่สามารถใช้คาดการณ์งบประมาณด้านสาธารณสุข และเตรียมบุคลากรการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ธนาธรระบุว่าคณะก้าวหน้าได้ทำเทเลเมดิซีนสำเร็จใช้งานจริงแล้วที่เทศบาลตำบลหนองแคน โดยประชาชนเข้ารับการตรวจได้ที่เครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ มีเครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้งบเพียง 60,900 ล้านบาท
ในด้านคมนาคม ธนาธรเสนอว่าควรมีการจัดทำบริการรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การลดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใข้พลังงานโดยประชาชนจะใช้รถส่วนตัวน้อยลง ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การประกอบธุรกิจของประชาชนครั้งใหญ่ ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างระบบอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในอนาคตเทรนด์โลกคือการใช้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว รถเมล์ในไทยจะถูกทยอยเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หากเราไม่พัฒนาอุตสาหกรรมไว้รองรับ สุดท้ายก็จะต้องซื้อจากจีน แทนที่จะสร้างงานและอุตสาหกรรมให้กับคนไทย โดยการทำรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด จะใช้งบประมาณ 88,000 ล้านบาท
ในด้านการทำประปา ธนาธรยืนยันว่าประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีน้ำประปาที่ดื่มได้ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน โดยจากข้อมูลของ Rocket Media Lab คนไทยต้องทำงานถึง 27 นาทีเพื่อซื้อน้ำกิน 1 วัน แต่คนฝรั่งเศสใช้เวลาเพียง 9 นาทีเท่านั้นในการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาซื้อน้ำกิน 1 วัน น้ำประปาอาจสามารถสามารถทำให้ดื่มได้ใน 99 วัน และยังมีการพัฒนาต่อยอดติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ และออกบิลค่าน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนเดินจดมิเตอร์ สิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ โดยใช้งบ 67,000 ล้านบาท ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงน้ำประปาสะอาดระดับดื่มได้ทั่วประเทศ และยังก่อเกิดอุตสาหกรรมชิปและสมาร์ทมิเตอร์อีกด้วย
ในด้านการจัดการขยะ ธนาธรกล่าวว่า การจัดการขยะเป็นสิ่งที่เราลงทุนน้อยเกินไปมาก เมื่อเทียบกับการจัดการเมืองด้านอื่น ทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในเทศบาลตำบลหนองพอก ร้อยเอ็ด คณะก้าวหน้าได้ทำให้เห็นแล้วว่า หากท้องถิ่นจริงจังในการแยกขยะเปียกจากขยะแห้งและขยะรีไซเคิล จะสามารถลดปริมาณขยะได้ทันทีอย่างน้อย 50% และสามารถฝังกลบหรือเผาขยะ และขายขยะต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น ธนาธรเสนอให้ใช้งบประมาณ 120,000 ล้าน เพื่อลงทุนซื้อรถขยะที่มีประสิทธิภาพ สร้างบ่อขยะและโรงเผาขยะที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ไม่ปล่อยมลภาวะหรือสารพิษปนเปื้อน โดยการลงทุนขนาดใหญ่หลักแสนล้าน จะสามารถสร้างบ่อขยะและโรงขยะที่ดีเทียบเท่าญี่ปุ่นหรือเดนมาร์ก ที่มีระบบการจัดการขยะดีที่สุดในโลก และคณะก้าวหน้าได้เคยไปดูงานมาแล้ว โดยการสร้างโรงขยะจะต้องไม่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนหรือนักการเมือง แต่ต้องดึงต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมาร่วมทุนในการสร้าง และไทยเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างโรงขยะที่ปลอดภัยเองในอนาคต
ด้านสุดท้ายคือด้านการศึกษา ธนาธรยืนยันว่าการลงทุนในการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าอย่างสูงสุด เพราะในยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนทักษะของอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้รอดจากภาวะ AI และระบบ automation เข้ามาแทนที่มนุษย์ ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับอาชีวะศึกษาน้อยเกินไป เพราะมัวแต่คิดว่าเด็กอาชีวะต้องตีกัน ทั้งที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ทักษะและวิชาชีพช่าง เป็นสิ่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอย่างสูงและได้รับการสนับสนุนอย่างมากโดยรัฐ เราสามารถเพิ่มการลงทุนในโรงเรียนและอาชีวะศึกษาได้ โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้กับโรงเรียน แห่งละ 500,000 - 3 ล้านบาท ตามขนาดของโรงเรียน และสถานศึกษาระดับอาชีวะ แห่งละ 20 ล้านบาททุกแห่งทั่วประเทศ รวม 121,000 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้รัฐสามารถเลือกได้ว่ารัฐจะทำเอง หรือให้เอกชนเข้ามาทำ ทำให้งบประมาณ 456,000 ล้านบาทในการยกระดับประเทศ 5 ด้าน อาจน้อยกว่านี้ เพราะตัวเลข 456,000 ล้าน หมายถึงรัฐลงทุนทำเอง 100% แต่รัฐสามารถใช้บริการเอกชน ดึงเอกชนมาร่วมลงทุน ก็จะลดค่าใข้จ่ายของรัฐลงไป แต่ธนาธรยืนยันว่าในการลงทุนร่วมกับเอกชน จะต้องไม่เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาแสวงหาสัมปทาน เอากำไรเกินควรบนผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่รัฐต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของการจัดงบประมาณที่สมเหตุผล และได้คุณภาพบริการสาธารณะที่ดีสำหรับประชาชน
ธนาธรกล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยวันนี้ไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าเป็นประเทศที่เจริญได้โดยปราศจากเทคโนโลยี การใช้งบประมาณที่คุ้มค่าสูงสุด จึงเป็นการเอาปัญหาของประชาชนมาแปรเป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ เป็นความต้องการที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานที่มีคุณภาพ และสร้างเทคโนโลยีที่เราเป็นเจ้าของเอง ซึ่งการทำประปาดื่มได้ ทำรถเมล์อีวี ทำโรงขยะที่มีมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทย
ธนาธรสรุปว่า การใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านพัฒนาประเทศ 5 ด้านนี้ หากไม่ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินปกติ ทยอยทำ 8 ปี ก็จะตกปีละ 60,000 ล้าน ซึ่งตนเชื่อว่าสามารถหาได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะแต่ละโครงการต้องค่อยๆ ทยอยทำอยู่แล้ว ไม่สามารถเกิดขึ้นทีเดียวภายใน 2-3 ปีได้ และถึงแม้ 5 แสนล้านจะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ตนถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งหากนำมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีรายได้สูง ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป
ภายหลังการบรรยายสาธารณะของ ธนาธร เปิดเผยว่า การนำเสนอในวันนี้ ต้องการให้สังคมแลกเปลี่ยนถกเถียงกันว่า ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จะเอาไปใช้ทำอะไร ตนเสนอทางเลือกเป็นอาหารสมองให้กับสังคม หวังว่าสิ่งที่พูดจะนำไปแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยมองว่า จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตย
ถามว่ามองการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลอย่างไร ธนาธร กล่าวว่า อย่างที่เคยโพสต์แสดงความเห็น ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยวันนี้ ไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ แน่นอนเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี แต่ก็ยังเติบโตอยู่ แต่หากจำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวน 5 แสนล้านบาท ตนไม่เห็นด้วย
ถามว่านโยบายดังกล่าวจะได้ผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหน ธนาธร ระบุว่า ตนได้บรรยายไปแล้วว่าจะเอาไปทำอะไร
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ไม่คุ้มทุนใช่หรือไม่ ธนาธร กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็น ส่วนเรื่องการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ตนไม่แม่นข้อกฎหมาย ขอให้ไปถามทางตัวแทนพรรคก้าวไกลจะดีกว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็น
“จำได้หรือไม่ครับ โควิดที่หนักมาก เรากู้ 1.5 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ผมคิดว่าในวันนี้ หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะอยู่สูงมากคิดว่าทั้งหมดกลับมาที่จุดเดิมที่นำเสนอ คือเกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราไม่มีการลงทุนอย่างเพียงพอในการที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ ดังนั้น ถ้าอยากให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจำเป็นจะต้องลงทุนเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งหมดในวันนี้” ธนาธร กล่าว
ธนาธร กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ตนเสนอเป็นทางเลือกเท่านั้น หากพรรคเพื่อไทยสนใจจะนำไปทำก็มานั่งพูดคุย เราก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล และเล่าถึงแนวทางของเราให้กับพรรคเพื่อไทยฟัง ส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจหลังการกระตุ้นประเมินว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์หรือไม่ ธนาธร บอกว่า ขอให้ถามพรรคเพื่อไทยน่าจะดีกว่า
หากพรรคเพื่อไทยซื้อไอเดีย แต่ติดเรื่องการทำตามสัญญาเพราะได้หาเสียงไปแล้ว ธนาธร บอกว่า คิดว่าน่าจะพูดตรงไปตรงมากับประชาชนน่าจะดีที่สุด ประชาชนน่าจะพร้อมให้โอกาสพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เรามองคนละมุม ตนมองว่าสถานะทางเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤตขนาดที่จำเป็นต้องกู้เงิน แต่พรรคเพื่อไทยมองว่า สถานะทางเศรษฐกิจสาหัสมากแล้ว พอมองคนละจุดก็พูดกันคนละฝ่าย
เวลาพัฒนาเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งไม่สามารถทำเสร็จได้ภายในปีเดียว ทั้งเรื่องระบบขนส่งสาธารณะสาธารณสุขต้องใช้เวลา ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามความเป็นจริง เช่น น้ำประปา ตนคิดว่า 8 ปี สามารถเป็นไปได้ ภายใน 3 ปีเป็นไปไม่ได้