ไม่พบผลการค้นหา
ชายชาวเมียนมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า ตัวเองถูกคุกคามเพราะเป็นเกย์ ก่อนฆ่าตัวตาย ทำให้คนรุ่นใหม่ในเมียนมาออกมาเรียกร้อง ให้มีการปกป้องกลุ่มหลากหลายทางเพศในเมียนมามากขึ้น

จ่อซินวิน บรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยเมียนมาอิมพีเรียล วัย 25 ปีโพสต์ข้อความอำลาครอบครัวและเพื่อนฝูงบนเฟซบุ๊ก ก่อนที่เขาจะตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย โดยระบุเหตุผลว่า เขาไม่สามารถทนการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน “ผมกลัวที่จะทำแบบนี้ แต่ผมกลัวผู้คนมากกว่า”

ในโพสต์ของจ่อซินวินเล่าว่า เจ้านายของเขาบังคับให้เขาเปิดตัวกับคนที่ทำงานว่าเขาเป็นเกย์ พร้อมโพสต์ภาพสกรีนชอตกรุ๊ปแชตของที่ทำงานที่แสดงให้เห็นว่า เพื่อนร่วมงานของขากลั่นแกล้งและล้อเลียนเขาที่เป็นเกย์ 

นอกจากนี้ จ่อซินวินยังวิพากษ์วิจารณ์เมียนมาว่าเป็นประเทศที่ “ล้อเลียนอัตลักษณ์คนอื่น เมียนมาเป็นประเทศสองหน้าที่ประจบคนสูงกว่า และขัดขวางการเฉลิมฉลองความจริง” และเขาภาวนาว่าจะไม่กลับมาเกิดในเมียนมาอีก


การเสียชีวิตของจ่อซินวินทำให้คนรุ่นใหม่ในเมียนมาหันมาสนใจปัญหาการคุกคามกลุ่มหลากหลายทางเพศในประเทศอย่างมาก โพสต์ของเขาถูกแชร์ไปมากกว่า 12,000 ครั้ง และมีคนคอมเมนต์มากกว่า 900 คอมเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจที่จ่อซินวินถูกคุกคาม โดยมีคนหนึ่งคอมเมนต์ว่า “คำพูดสามารถฆ่าคนได้… นี่คือการฆาตกรรม”

ด้านผู้ร่วมงานของจ่อซินวินคนหนึ่งที่ปรากฏชื่ออยู่ในโพสต์ ออกโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของตัวเอง เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามจ่อซินวินเลยแม้แต่น้อย 

ขณะที่มหาวิทยาลัยเมียนมาอิมพีเรียลออกแถลงการณ์แสดงความเห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ “น่าสลด” โดยมีการไปเยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว และมหาวิทยาลัยยังเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มหาวิทยาลัยกำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่

หล่ะเมียตตุน ผู้อำนวยการคัลเลอร์สเรนโบว์ องค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิ LGBTQ ในเมียนมากล่าวว่า ความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและการเลือกปฏิบัติต่อคนหลากหลายทางเพศยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในที่ทำงานในเมียนมา โดยองค์กรของเขาได้รับข้อความจากกลุ่มหลากหลายทางเพศรุ่นใหม่จำนวนมากที่ต้องการกำลังใจ และจ่อซินวินได้สละชีวิตของเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการเลือกปฏิบัติจากอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศในที่ทำงานและโรงเรียนในเมียนมาฝังรากลึกขนาดไหน

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนหลากหลายทางเพศวางแผนว่าจะจัดการเดินขบวนเพื่อไว้อาลัยให้กับจ่อซินวิน พร้อมเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายตั้งแต่สมัยอาณานิคมที่ระบุว่าการรักเพศเดียวกันเป็นคดีอาญา และให้มีการเสนอกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากการมีกฎหมายลงโทษคนหลากหลายทางเพศถือเป็น “การเลือกปฏิบัติโดยมีรัฐสนับสนุน”

แม้กลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาจะยังเผชิญกับความท้าทายอยู่มาก แต่ก็มีสัญญาณให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ของเมียนมายอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยปี 2018 ทางการเมียนมาอนุญาตให้มีการจัดเทศกาล LGBTQ ในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรก โดยงานดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 12,000 คน และปีนี้ก็เพิ่งมีการจัด "ขบวนพาเหรดเรือไพรด์" เป็นครั้งแรกในเมียนมา แต่นักกิจกรรมก็ยังหวังว่าจะสามารถจัดขบวนพาเหรดบนท้องถนนได้อย่างเต็มที่

 

ที่มา : AFP, Irrawaddy