ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2560 ที่ผ่านมา อัตราเด็กเกิดใหม่ในจีนลดลงกว่า 7 ล้านคน เนื่องมาจากความกังวลด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 76.5 ปี คาดว่าจีนจะมีผู้สูงอายุถึง 400 ล้านคนภายในปี 2578

คณะกรรมการวางแผนครอบครัวของจีนเปิดเผยรายงานว่า อัตราการเกิดในปี 2560 ของประชากรจีนลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดในปี 2559 แม้ว่ารัฐบาลจีนจะยกเลิกนโยบายการมีลูกคนเดียวตั้งแต่ปี 2558 เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดของเด็กในประเทศให้มากขึ้นและเป็นการช่วยชะลอการเข้าสู่สังคมสูงอายุของจีน

ตามการเปิดเผยของหน่วยงานด้านสถิติของจีน พบว่าในปี 2560 อัตราการเกิดของประชากรจีนจะมากกว่า 17 ล้านคน แต่ยังอยู่ในระดับที่น้อยกว่าปี 2559 ถึงร้อยละ 3.5 โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่17.23 ล้านคน ขณะที่ในปี 2559 มีเด็กเกิดใหม่ 17.9 ล้านคน ปัจจุบันจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และคาดว่าจะสูงกว่า 1,450 ล้านคนในปี 2573

ขณะที่ทางหน่วยงานด้านกิจการพลเรือนของจีนสำรวจความเห็นของครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งพบว่า ประชากรในกรุงปักกิ่งเกือบร้อยละ 60 ต้องการที่จะมีลูกคนที่สอง แต่ มีเพียงร้อยละ10เท่านั้นที่มีลูกคนที่ 2 เนื่องจากความกังวลในเรื่องสภาพทางการเงินของครอบครัว รวมไปถึงเรื่องของการจัดการศึกษาและนโยบายสาธารณสุข

เจิ่ง เจียหลิน ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวVOA ว่า แม้รัฐบาลได้เข้ามาช่วยดูแลลูกคนแรกของครอบครัว แต่การมีลูกคนที่สองทำให้ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องเวลา เศรษฐกิจ และความกดดันอื่นๆอีกมากมาย

ขณะที่นายเจี้ยนจุน หวัง กล่าวว่า เขายังไม่ตัดสินใจที่จะมีลูกคนที่สอง เพราะยังมีความกังวลในเรื่องการจัดการเวลาและสถานภาพทางการเงินของครอบครัวที่เป็นปัจจัยหลักในการดูแลลูกๆของพวกเขา เนื่องจากแม่จะไม่สามารถออกไปทำงานได้จนกว่าลุกจะมีอายุ2 ขวบหรือเข้าโรงเรียนแล้ว ซึ่งหมายถึงการสูญเสียรายได้ของครอบครัว

ผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพเศรฐกิจในระยะยาว

ในปีที่ผ่านมาอัตราส่วนของประชากรวัยแรงงานของจีนที่มีอายุระหว่าง 16 - 59 ปี ลดลงกว่า 5 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีในสังคมจีนมีมากถึง 1 ใน4 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยในปีที่ผ่านมามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ11.4 ซึ่งมากว่าในปี2559 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

รายงานของธนาคารโลกเปิดเผยว่า ในปี2560ตัวเลขของประกรวัยแรงงานในจีนลดลงเหลือร้อย68.9 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบเกับปี2559ที่มีประชากรวัยแรงงานอยู่ร้อยละ69.4

กราฟแนวโน้มที่ลดลงของประชากรวัยแรงงานของจีนตั้งแต่ปี1990 -2017

โจว เทียนยง นักวิจัยจากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติของวิทยาลัยพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า ปัญหาประชากรวัยแรงงานลดลงที่จะส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจจีนในระยะยาว การควบคุมประชากรของจีนกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเกิดของประชากรถูกจำกัดกว่า 200ล้านคน และถ้าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการในการจัดการปัญหาเรื่องการสูญเสียประชากรจะก่อให้เกิดการหดตัวของการบริโภค รายได้ และ GDPภายในประเทศ

ปัญหาประชาผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อการดูแลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุในจีน รายงานของสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน รายงานว่า ในหลายเมืองของจีนกองทุนบำเน็จบำนาญกำลังอยู่ในภาวะขาดดุล เนื่องจากประชากรวัยแรงงานน้อยกว่าผู้สูงอายุ ทำให้โครงสร้างประกันสังคมในหลายมณฑลเริ่มประสบปัญหาขาดดุล โดยเฉพาะในมณฑลเหยหลงเจียง มณฑลจี๋หลินและมณฑลเหลียวหนิงซึ่งมีสัดส่วนของผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรแรงงานลดลงเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น

ปัจจุบันจีนกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยอายุเฉลี่ยของคนจีนยาวขึ้นจาก 74.83 ปีในปี2553 เป็น 76.5 ปีในปัจจุบัน และรัฐบาลจีนคาดว่าจะมีผู้สูงอายุกว่า 400 ล้านคน ภายในปี2578

ไทยก็กำลังก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุที่สมบูรณ์

ตามสถิติของธนาคารโลก ในปี 2560 ไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมดกว่า 65 ล้านคน และในปี 2583 ประชากรสูงอายุของไทยจะมีจำนวนมากกว่า 17 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรเกิดเพิ่มเพียง ร้อยละ0.5 และคาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ในเอเซีย รองจากสิงคโปร์

ขณะที่ประชากรวัยแรงงานของประไทยมีอัตราลดลงมาตั้งแต่ปี2555 โดยปัจจุบันไทยมีอัตราแรงงานทั้งหมดร้อยละ 68.5 ของจำนวนประชาซึ่งลดลงจากปี2555 ที่มีอยู่ร้อยละ72.8 ของจำนวนประชากร

ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเจอความท้าทายจากการต้องจ่ายเงินบำนาญ การรักษาทางการแพทย์ และระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แต่ขณะเดียวกันไทยก็มีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตร จำนวน 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากสถานการณ์อัตราการเกิดลดลง และแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

เรียบเรียงจาก VOA สำนักข่าวABC South China Morning Post