ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจความเห็นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ของคนกรุงเทพฯ พบเม็ดเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เหตุราคาสินค้าแพงขึ้น โดยคนกรุงร้อยละ 59 เลือกฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือท่องเที่ยว คาดใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 5,600 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยคาดว่า จะมีการใช้จ่ายกว่า 30,800 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

โดยคนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 59 ของคนที่ทำแบบสำรวจ เลือกที่จะเฉลิมฉลองอยู่ในกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ร้อยละ 60 โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ การจราจรค่อนข้างติดขัด คนหนาแน่น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ประกอบกับความกังวลในเรื่องของกำลังซื้อที่ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนจะเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ แต่โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่ยังคงมีการวางแผนและเตรียมงบประมาณไว้ใช้จ่ายและทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของขวัญและเลี้ยงสังสรรค์ถือเป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ เลือกทำมากที่สุด ซึ่งยังคงเป็นโอกาสของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะเร่งกระตุ้นยอดขายกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

สำหรับเม็ดเงินใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.1 ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากราคาสินค้าและอาหารที่แพงขึ้น และถึงแม้ว่าในปีนี้ มาตรการช็อปช่วยชาติจะไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ในทุกหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (สามารถลดหย่อนได้เฉพาะหนังสือและสินค้า OTOP) รวมถึงการแจกเงินปีใหม่ 500 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ทยอยแจกในช่วงเดือนธันวาคม น่าจะกระจายตัวอยู่ในกลุ่มคนต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ 

แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกน่าจะมีการโหมจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายในทุกกลุ่มสินค้าต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล

โดยเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,400 ล้านบาท 

รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงค่าที่พัก) 8,800 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 8,400 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,100 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง บริจาคสิ่งของ) 500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท เทียบกับปี 2561 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท

อีกทั้ง คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 55 ของคนที่ทำแบบสำรวจ ระบุว่า การมอบของขวัญให้แก่กันยังคงเป็นกิจกรรมที่เลือกทำในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 มากเป็นอันดับ 1 แต่อาจจะวางแผนเน้นซื้อให้เฉพาะบุคคลสำคัญอย่างคนในครอบครัว รวมถึงการซื้อเพื่อนำมาร่วมจับฉลากภายในองค์กรหรือบริษัท ซึ่งประเภทของของขวัญที่ซื้อให้ในแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันไป 

โดยของขวัญที่มอบให้คนในครอบครัวจะเน้นหมวดที่เกี่ยวกับสุขภาพเป็นหลัก เช่น กระเช้าของขวัญ สินค้าเพื่อสุขภาพ (วิตามินและอาหารเสริม) และเครื่องแต่งกาย ส่วนของขวัญที่ซื้อเพื่อจับฉลากจะเน้นที่การใช้งานและตอบโจทย์ได้กับคนทุกกลุ่มมากกว่า เช่น อุปกรณ์เสริมไอที (แบตเตอรี่สำรอง แผ่นรองกันกระแทกหรือเคสโทรศัพท์ หูฟัง) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และช็อคโกแลต/คุกกี้ 

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการจัดเตรียมสินค้า และทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ถือเป็นแหล่งช็อปปิงที่คนกรุงเทพฯ เลือกไปซื้อของขวัญและทำกิจกรรมต่างๆ มากที่สุด ถึงร้อยละ 94 ของคนที่ทำแบบสำรวจ รองลงมา คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ชี้ให้เห็นว่า ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน (Offline) ยังตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการจับจ่ายของคนกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีสินค้าและบริการให้เลือกครบครันและครอบคลุมความต้องการของคนทุกเพศทุกวัย (Life-style Mall) 

อย่างไรก็ดี กระแสช็อปปิงออนไลน์ (คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 28 เลือกใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้) ก็ถือว่ามาแรงไม่น้อยเช่นกัน เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งการสั่งซื้อที่ได้ความนิยมสูงคือ การสั่งซื้อผ่านช่องทาง Social Commerce อาทิ Facebook/ Instagram/ Line เพราะมีการเข้าใช้อยู่เป็นประจำ

การจัดกิจกรรมอีเวนต์ (Events) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลจูงใจให้คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 56 ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ภายในร้านค้าปลีกนานขึ้น โดยอีเวนท์ที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจมากที่สุด คือ การลดราคาสินค้าและชิงโชคของรางวัล เช่น รถยนต์ ตั๋วเครื่องบินท่องเที่ยว และทอง อีกทั้งจากการสำรวจพบว่า ลูกค้าแต่ละคนจะใช้เวลาในการเลือกซื้อของขวัญหรือทำกิจกรรมต่างๆ ภายในร้านค้าปลีกเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อครั้ง 

ดังนั้น หากผู้ประกอบการค้าปลีกมีการจัดกิจกรรมอีเวนท์ดังกล่าวก็น่าจะช่วยดึง Traffic ของคนกรุงเทพฯ ให้เข้ามาใช้บริการภายในร้านค้าปลีกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ได้อย่างตรงจุด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งช็อปปิ้งได้เร็วขึ้น อาทิ เพิ่มบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการมาช็อปปิ้ง (พื้นทื่ทำกิจกรรม/มุมพักผ่อน ฟรีไว-ไฟ ขยายเวลาเปิดให้บริการในบาง Zone) ที่จอดรถการเชื่อมโยงข้อมูลของทางร้านค้ากับแอพพลิเคชั่นต่างๆ (แจ้งสิทธิประโยชน์/โปรโมชั่น เช็คสถานะของที่จอดรถ แจ้งรายชื่อร้านค้าที่มีการให้บริการหรือร่วมจัดกิจกรรมโปรโมชั่นช่วงปีใหม่ รวมถึงอีเวนท์ที่จัดขึ้น) การทำให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่า หรือเป็นคนพิเศษ หรือได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เมื่อเลือกใช้บริการกับทางร้านค้า เช่น เช็คอินสถานที่แล้วได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าภายในร้านค้า หรือเมื่อใช้บริการร้านค้าหนึ่งแล้วได้รับสิทธิประโยชน์จากอีกหนึ่งร้านค้าในรูปแบบ Co-Partner เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :