ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสงกรานต์ปีนี้ คนกรุงใช้จ่าย 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.6 เน้นสังสรรค์ กิน ดื่ม คาดเที่ยวจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ มากขึ้น แนะผู้ประกอบการเน้นทำตลาดผู้บริโภคเจน เอ็กซ์-เจน วาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 12-16 เมษายน 2562 คนกรุงเทพฯ จะมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 25,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว ซึ่งในปีนี้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์น่าจะให้มุมมองที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากการเพิ่มวันหยุดที่ทำให้ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วัน

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากและแปรปรวนในปีนี้ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการวางแผนเลือกทำกิจกรรมและจับจ่ายใช้สอยในช่วงสงกรานต์ อีกทั้งประเด็นเรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ก็อาจจะทำให้คนกรุงฯ บางส่วนยังคงระมัดระวังกับการใช้จ่าย 

โดยเม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 แยกได้ดังนี้  

  • ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 9,650 ล้านบาท 
  • ค่าที่พัก/เดินทาง 6,650 ล้านบาท 
  • ช็อปปิง 4,600 ล้านบาท 
  • ทำบุญไหว้พระ 2,050 ล้านบาท 
  • ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ให้เงินผู้ใหญ่ในครอบครัว ค่าเที่ยวสถานที่ต่างๆ/ดูหนังฟังเพลง/เล่นน้ำ 2,050 ล้านบาท 

โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5,800 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5,600 บาท/คน)

อีกทั้งมีคนกรุงฯ กว่าร้อยละ 56.0 เลือกวางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมาคือ กลับบ้านต่างจังหวัด (ร้อยละ 23) และท่องเที่ยว (ร้อยละ 21) ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า ในระยะหลังคนกรุงฯ หันมาทำกิจกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น จากเดิมที่นิยมกลับบ้านต่างจังหวัด โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำนั้น มักเป็นกิจกรรมที่ทำภายในบ้านมากกว่ากิจกรรมนอกบ้าน นำโดยการจัดเลี้ยงสังสรรค์ พักผ่อนอยู่ภายในบ้าน เป็นต้น 

หรือหากเป็นกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะเป็นการไปเดินเล่น-ช็อปปิงตามห้างสรรพสินค้าหรือการท่องเที่ยวระยะใกล้ๆ ซึ่งเหตุผลหลักมาจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ประกอบกับสภาพอากาศเดือนเมษายนของไทยที่ร้อนอบอ้าว จึงอยากหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง

อีกทั้งในปีนี้ พื้นที่ทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดยอดฮิตในช่วงสงกรานต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง ทำให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนที่วางแผนจะท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ ต่างมีการปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางโดยการหันมาทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ หรือท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เช่น ชลบุรี อยุธยา ระยอง ทดแทนการไปเที่ยวในภาคเหนือ ส่งผลให้คาดว่า บรรดาธุรกิจต่างๆ เช่น ค้าปลีก ร้านอาหาร ที่พัก/โรงแรม ในย่านกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวใกล้เคียง น่าจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น

แนะผู้ประกอบการเจาะตลาด Gen Y - Gen X วัยทำงาน กำลังซื้อสูงใช้จ่ายมาก

กิจกรรมหลายๆ อย่างที่คนกรุงฯ สนใจจะทำในช่วงสงกรานต์จะแตกต่างกันไปตาม เจเนอเรชั่น ซึ่งหากวิเคราะห์ศักยภาพในการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ พบว่า ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะการใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและกำลังซื้อ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ 

กลุ่ม Gen Z : คือกลุ่มวัยเรียนหรือวัยเริ่มต้นทำงาน เป็นกลุ่มที่มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนน้อยและมีอิสระในการจับจ่ายพอสมควร ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองเทศกาลสงกรานต์ว่าเป็นอีเวนท์ที่ได้นัดพบปะสังสรรค์ ดังนั้น การกินเลี้ยงสังสรรค์จึงเป็นกิจกรรมที่สนใจทำมากที่สุด แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อน การจัดเลี้ยงสังสรรค์ จึงนิยมใช้บริการของ Food Delivery มากที่สุด เพราะสั่งซื้อง่าย ไม่ต้องออกจากบ้านก็มีอาหารส่งตรงถึงบ้าน ในขณะที่การพักผ่อนอยู่บ้านนั้น นอกจากการดูทีวี/ดูหนัง/ฟังเพลงแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือการติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ด้วยเหตุนี้ การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย น่าจะกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

กลุ่ม Gen Y : เป็นผู้บริโภคในช่วงวัยทำงานช่วงต้น-กลาง ที่เริ่มมีรายได้และสนุกกับการใช้ชีวิต สะท้อนจากกิจกรรมที่เลือกทำมากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ การกินเลี้ยงสังสรรค์และช็อปปิง โดยสถานที่ที่นิยมใช้บริการ คือ ร้านอาหารและร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนแต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังสนใจออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านอยู่ และน่าจะมีสัดส่วนมากขึ้นกว่าปีก่อน เพราะผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งในปีนี้หันมาทำกิจกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า น่าจะได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

กลุ่ม Gen X : เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงวัยทำงานตอนปลาย ที่มีรายได้ต่อเดือนค่อนข้างสูง อำนาจการซื้อจึงสูงตาม แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในช่วงสงกรานต์ พบว่านิยมพักผ่อนอยู่กับบ้าน ทำบุญ มากกว่าการเลี้ยงสังสรรค์ อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ถึงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการใช้จ่าย พบว่า แม้จะเลือกพักผ่อนอยู่บ้าน แต่หากมีการทำกิจกรรมที่ต้องใช้จ่าย ก็จะเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูงกว่า Gen อื่นๆ โดยกิจกรรมที่สนใจทำนอกเหนือจากดูทีวี/ดูหนัง/ฟังเพลง ก็คือการเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้าน โดยเฉพาะร้านอาหารทั่วไป รวมถึงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า

กลุ่ม Gen B : เป็นผู้บริโภควัยเกษียณ ที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น กิจกรรมหลักๆ ในช่วงสงกรานต์นี้มักจะนิยมทำบุญ พักผ่อนอยู่บ้านและกินเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มญาติพี่น้อง/ลูกหลาน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจับจ่ายของคนกลุ่มนี้จะไม่สูงมากหากเทียบกับผู้บริโภค Gen อื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะผู้รับ ดังนั้น การทำตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะมุ่งไปจับกลุ่ม Gen X และ Gen Y ซึ่งเป็นผู้นำเสนอหรือมอบให้มากกว่า โดยกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ ได้แก่ กลุ่มร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารทั่วไป หรือร้านอาหารภายในห้างสรรพสินค้า 

ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ กลุ่มลูกค้าที่ผู้ประกอบการควรเข้าไปจับตลาดน่าจะอยู่ในกลุ่มลูกค้า Gen Y และ Gen X ในวัยทำงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอำนาจการตัดสินใจซื้อสูง และยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ก่อให้เกิดเม็ดเงิน โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงสังสรรค์และช็อปปิ้ง แต่การจะเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้ กลยุทธ์สำคัญคือ ราคาต้องสมเหตุสมผลและมีโปรโมชั่น/สิทธิพิเศษ ที่ดึงความสนใจได้

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้อานิสงส์หลักจากการจับจ่ายใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ยังคงเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในห้างฯ เพราะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกๆ กลุ่มได้ดี ซึ่งในระยะหลังผู้ประกอบการหลายรายปรับตัวไปสู่การเป็น Life Style Mall มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกทำกิจกรรมได้หลากหลายทั้งกิน เที่ยว ช็อปปิง ครบจบในที่เดียวแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคสามารถเดินเล่นหลบร้อนได้ หากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน

คนกรุงกลัวฝุ่นเชียงใหม่ หันเที่ยวระยอง ชลบุรี อยุธยาแทน 

สำหรับ ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ บางส่วนที่วางแผนเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ มีการปรับแผนและหันมาท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น เช่น ชลบุรี อยุธยา ระยอง เป็นต้น ส่งผลให้คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังคงขยายตัว แต่อาจจะสะพัดไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่เชียงใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น และควรมีการวางแผนรับมือโดยเฉพาะในเรื่องของการอำนวยความสะดวกที่คาดว่าจะมีคนกรุงเทพฯ เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยความแตกต่างของไลฟ์สไตล์ของแต่ละ Generation สะท้อนให้เห็นว่า การทำตลาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ธุรกิจ Food Delivery Service ธุรกิจอี คอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ควรเน้นการตลาดที่มุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Customization) มากขึ้น เพื่อจะได้นำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :