ไม่พบผลการค้นหา
แม้จะมีกระแสกดดันจากประชาชนกว่า 80,000 คนที่ร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ลาออก แต่รองนายกฯ ไม่สนใจ

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมจะทำงานให้ประเทศชาติต่อไป ไม่หวั่นไหว และจะไม่ลาออก แม้ว่านางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะรวบรวมชื่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกเปิดเผยว่าครอบครองนาฬิกาหรูและแหวนเพชรโดยไม่แจ้ง

โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุว่า ผู้เคลื่อนไหวให้มีการถอดถอน พล.อ.ประวิตร มีสิทธิที่จะเห็นต่าง และจะไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกติกาของบ้านเมือง ถ้าเป็นแบ���นี้ไม่ได้ สังคมก็จะไม่สงบสุข

ทั้งนี้ นางทิชาได้เริ่มต้นแคมเปญทางเว็บไซต์ change.org ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 80,018 รายชื่อ และได้นำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ตามที่เคยกล่าวต่อสาธารณะไว้ว่า “หากประชาชนไม่ต้องการ พร้อมลาออก” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.

ทิชายื่นรายชื่อ

นางทิชาได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.ประวิตร หมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง เพราะกรณีนาฬิกาที่อ้างว่ายืมเพื่อนมา แสดงถึงความไม่เคารพเสียงของประชาชน และความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ดังนั้น การลาออกจะเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองในอนาคต ตามแบบอย่างของนักการเมืองในหลายประเทศ แต่เมื่อ พล.อ.ประวิตร ยืนยันไม่ลาออก นางทิชาก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "จะเดินหน้าต่อไป"

"แม้รายชื่อผู้สนับสนุนให้รองนายกฯ ประวิตรลาออกในล็อตแรก 80,018 รายชื่อ จะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ตัวเลขที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ คือ การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่ยังมีนัย มีความหมาย ฉะนั้น สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ลงชื่อ เชิญลงชื่อสนับสนุน ให้รองนายกประวิตรฯ ลาออกต่อไปนะคะ" 

รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2540 และ 2550 เคยกำหนดเอาไว้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน (พ.ศ.2540) และสองหมื่นคนขึ้นไป (พ.ศ.2550) มีสิทธิจะเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ไม่ได้ระบุสิทธิหรืออำนาจของประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง

อ่านเพิ่มเติม: