นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการวิพากวิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่รัฐบาลออกมาบอกว่าไม่ต้องรีบดำเนินการก็ได้ว่า หากพูดถึงเวลาก็ยังมีระยะเวลาในการดำเนินการอยู่ เนื่องจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 53/2560 ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ แต่ก็เข้าใจว่าต้องให้เวลาพรรคการเมืองในการทำไพรมารีโหวต ซึ่งในระยะเวลา 90 วัน จึงถูกแบ่งออกเป็นระยะเวลา 2 ช่วง คือ 60 วันและ 30 วัน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าระยะเวลาทั้งหมด สามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและจัดทำไพรมารีโหวตได้ทัน และไม่ส่งผลให้โรดแมปเลื่อน หากพรรคการเมืองดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวตไม่แล้วเสร็จก็สามารถดำเนินการหลังกฏหมายลูก ส.ส.ประกาศใช้จนถึงวันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง จากนั้นไม่เกิน 5 วัน กกต.จะประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่ง กกต. ต้องไม่สร้างความได้เปรียบหรือเสียบเปรียบให้กับพรรคการเมือง แต่หากพรรคการเมืองมองว่าเกิดความเสียเปรียบขึ้นก็สามารถร้องเรียนได้
ส่วนการหาเสียงของบางพรรคการเมืองที่อาจเข้าข่ายผิดกฏหมายสามารถเอาผิดย้อนหลังได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขอตอบในเรื่องนี้เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดว่าเรื่องใดผิดเรื่องใดถูก เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการตักเตือนไปแล้วจึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีก และแต่ละพรรคการเมืองก็มีนักกฏหมายของพรรคอยู่แล้ว และมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมาหลายครั้ง หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยให้ไปถามจาก กกต.
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมเดินทางไปพบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยอ้างว่าไปพบเพราะเคารพเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองว่า ส่วนตัวไม่ขอตีความในเรื่องดังกล่าว และในบางอย่างก็ไม่ควรไปแสดงความคิดเห็น และส่วนตัวก็ไม่ทราบว่านายทักษิณได้ครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่านายทักษิณไปทำอะไรไว้บ้าง แต่กฏหมายระบุไว้ว่าห้ามครอบงำพรรคการเมือง ซึ่งจะมองว่าเป็นการครอบงำหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กกต.และศาลเป็นผู้พิจารณา โดยจะต้องพิจารณาถึงการกระทำ เจตนา ซึ่งการกระทำต่างๆ นั้นมีข้อยกเว้นอะไรหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่อยากพูดมากเพราะจะกลายเป็นการข่มขู่ เพราะส่วนตัวไม่ทราบว่าการที่อดีต ส.ส.เดินทางไปพบนายทักษิณไปทำอะไรบ้าง และส่วนตัวก็ไม่ได้ไปด้วย
ส่วนตนเองมีพรรคการเมืองในดวงใจหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองในดวงใจและไม่เคยคิดว่าจะลงเล่นการเมือง ต้องรอให้เหลือความชัดเจนว่าจะมีพรรคการเมืองเหลืออีกกี่พรรคก่อน ส่วนจะมีการยุบพรรคการเมืองอีกหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบแต่ทุกคนก็ต้องพูดแบบนั้น ซึ่งในวันที่มีการประชุมพรรคการเมืองครั้งแรกก็ทราบเลยว่ามีหลายพรรคการเมืองที่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นแต่ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และไม่ทราบว่าเหตุผลที่ไม่ส่งเพราะหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งไม่ได้และอาจจะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ตีความข้อ 33 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับการห้ามระดมทุนรับบริจาคและขายของที่ระลึกออนไลน์ ซึ่งระบุถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการว่าคำว่า ได้แก่ เป็นการยกตัวอย่าง แต่ กกต.ระบุว่าไม่ใช่ ว่า คำว่า 'ได้แก่' ในกฎหมาย หมายถึงการระบุที่จบอยู่แค่นั้น แต่ถ้าระบุว่า 'เช่นนั้น' มีอีกมากกว่านั้น และไม่ขอไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรว่าระเบียบนี้ไม่เหมาะกับยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะหลายๆ อย่างทำให้พรรคไม่สามารถทำกิจกรรมได้
ทั้งนี้ การหาเสียงโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้เขียนไว้ในกฎหมายว่าการหาเสียงโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้รวมถึงการหาสมาชิก ซึ่งการหาเสียงโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ กกต.กำหนด และ กกต.จะกำหนดได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว และพระราชกฤษฎีกาจะออกได้ก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ ซึ่งทุกอย่างล็อกกันไว้หมดแล้ว ดังนั้น วันนี้ไม่ว่าใครจะไปทำอะไร สำหรับตนมองว่าไม่ใช่การหาเสียง เพราะถ้าเมื่อไหร่เป็นการหาเสียง ค่าใช้จ่ายบาทเดียวก็ต้องเริ่มนับ แต่กรณีที่ถูกต้องทั่วไปจะเริ่มนับได้เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ส่วนที่ กกต.ให้เหตุผลว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีในกฎหมาย ต่อไปก็ควรจะเพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีการสอดรับนั้น หลายเรื่อง กกต.มีอำนาจกลางของเขาที่จะออกเองได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :