ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี สรุปภาพรวมสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2018 โดยชี้ว่า สถานการณ์ยังคงมีแนวโน้มย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรอบปี 2018 ว่า มีแนวโน้มตกต่ำลงไปอีก

รายงานของแอมเนสตี้ครอบคลุมการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 5 ประเด็น คือ การเล่นงานผู้เห็นต่างที่แสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ การใช้กฎหมายปิดกั้นสิทธิของประชาชนภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย การดำเนินคดีผู้วิจารณ์รัฐบาล การเพิกเฉยต่อผู้ลี้ภัย และการไม่รับผิดของผู้มีอำนาจ

ในเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่างทางออนไลน์ พบว่า ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา มีการใช้โซเชียลมีเดียโหมกระพือวาทะสร้างความเกลียดชัง ขณะที่เวียดนามออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีส่งมอบข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลแก่รัฐบาล และเซ็นเซอร์ข้อความโพสต์ของผู้ใช้

นอกจากนี้ ในประเทศไทย บรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักการเมือง ทนายความและนักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีเพราะชุมนุมโดยสงบ บ้างเจอข้อหายุยงปลุกปั่น

ในเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เกิดขึ้นในกัมพูชา ซึ่งใช้กฎหมายและศาลยุติธรรมกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายค้านและปิดสำนักข่าวก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม

ในเรื่องการดำเนินคดีผู้วิจารณ์รัฐบาล เกิดขึ้นในมาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม

ในเรื่องการละเลยผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้ควบคุมตัวชนภูเขาชาวคริสต์จากเวียดนามและกัมพูชาอย่างน้อย 168 คน และมีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา ขณะที่ในเมียนมาร์มีการเพิกเฉยต่อชะตากรรมของผู้พลัดถิ่นในรัฐกะฉิ่นและรัฐฉาน รวมทั้งมีการจำกัดพื้นที่ของชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่

สุดท้าย ในเรื่องการไม่รับผิดของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในอินโดนีเซียมีรายงานการละเมิดในจังหวัดปาปัว แต่ไม่มีการสอบสวนเอาผิด ในเมียนมาร์ไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยา ในฟิลิปปินส์ไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่สังหารประชาชนในสงครามยาเสพติด ขณะที่ประเทศไทยยังคงล่าช้าในการออกกฎหมายกำหนดโทษอาญาต่อการทรมานและการอุ้มหาย.

ที่มา: Amnesty International