ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำ กปปส. ปัดก่อม็อบค้านเลือกตั้ง ติงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะทำให้วุ่นวาย อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งช้าลง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนายสาธิต วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำ กปปส. แถลงข่าว ชี้แจงกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊ค ‘Kittiphat Tachakeaw’ โพสต์ข้อความนัดมวลชน กปปส. ร่วมชุมนุมไม่อยากเลือกตั้ง ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ เวลา 15.30 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งนายสุเทพชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจาก กปปส. ได้ยุติบทบาทไปตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว อีกทั้งเจตนารมณ์ของมวลชนคือการสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ปฏิรูปประเทศ และเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยจะเห็นได้จากการที่มวลชนพร้อมใจกับลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2560 และตนก็ไม่เคยรู้จักกับบุคคลดังกล่าวด้วย ยืนยันว่าไม่ใช่แกนนำ และแกนนำเองก็ไม่มีแนวคิดแบบนี้ จึงถือเป็นความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าปัจจุบันนี้ มีกลุ่มคน 2 ประเภท ที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง

1. กลุ่มที่คิดว่าถ้ามีเลือกตั้งอาจทำให้ คสช. ได้เปรียบ ดังนั้นถ้ายิ่งทำให้ยื้อการเลือกตั้งก็จะทำให้ภาพพลักษณ์ของ คสช. ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้นจึงต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อยั่วยุให้เกิดความยุ่งเหยิง และไม่มีการเลือกตั้ง

2. กลุ่มคนที่ต้องการให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

ซึ่งทั้งสองความคิดนี้ ไม่ใช่ความคิดของ กปปส. และเตือนให้พี่น้อง กปปส. ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองด้วยความรอบคอบ พร้อมย้ำว่าทุกฝ่ายควรอยู่ในความสงบไม่ออกมาเคลื่อนไหว และเดินหน้าไปตามโรดแมปจะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้ นอกจากนี้นายสุเทพยังแสดงความคิดเห็นว่าการออกมาชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยิ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ต่างฝ่ายต่างไม่ออกมาเคลื่อนไหว บ้านเมืองก็จะปกติสุข และเข้าสู่การเลือกตั้งได้ตามโรดแมป

สุเทพ พอใจ 4 ปี คสช. ตอบโจทย์สร้างความสงบ และปฏิรูปประเทศ

นายสุเทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการทำงานตลอด 4 ปีของ คสช. ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

  1. คสช. เข้ามาควบคุมสถานการณ์ 4 ปีทำให้ประเทศสงบสุข 
  2. รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นผลงานของ คสช. ที่ยกร่างให้มีทิศทางตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น การเลือกตั้งแบบใหม่ และการทำไพรมารี่โหวต
  3. คสช. มีความตั้งใจในการปฏิรูปประเทศ หลายอย่างตรงกับความต้องการของประชาชน เช่น ปฏิรูปตำรวจ, และการปราบปรามการทุจริต
  4. การเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปประเทศ ย่อมกระทบคนอื่นๆ และมีแรงต้านจากผู้ที่เสียประโยชน์ ทำให้การปฏิรูปไม่บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะระบบบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนช่วยกันผลักดันการปฏิรูปประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: