ไม่พบผลการค้นหา
'ชลน่าน' ปูด 3 วันฤกษ์ดีรัฐบาลเล็งยุบสภา จะได้กลับมาสืบทอดอำนาจ ชี้ช่องจับตา 6 ก.พ. ถ้า ส.ส.ยังไม่ย้ายพรรค เป็นสัญญาณยุบแน่ เตือนชิงยุบหนีอภิปราย ม.152 เจอพิพากษาวันเลือกตั้ง ลั่น 'เพื่อไทย' ไม่ประกาศจับมือใครก่อนเลือกตั้ง ไม่แตะพรรคหนุนนั่งร้านเผด็จการ

วันที่ 16 ม.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระบวนการขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่าพร้อมเข้ามาชี้แจงตั้งแต่ 15 ก.พ. เป็นต้นไปว่า น่าจะเป็นเวลาที่เนิ่นนานเกินกว่าเหตุที่จำเป็น เพราะดูจากกระบวนการยื่นญัตติก็ทำอย่างรวดเร็ว แต่ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านและประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ทำความเห็นทักท้วงไปว่า เป็นการทอดเวลาที่ยาวนานเกินไป เพราะโดยปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนหลังจากการยื่นญัตติ

สำหรับเนื้อหาในการอภิปรายนั้น นพ.ชลน่าน เผยว่า จะครอบคลุมทุกนโยบายทั้ง 12 ด้านของรัฐบาล รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น เรื่องยาเสพติด ทุนจีนสีเทา ปฏิรูประบบราชการ ก็จะถูกหยิบยกมาสอบถามและเสนอแนะต่อไปโดยมี สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาสาระและบทบาทหน้าที่ในการอภิปราย จัดสรรกันไปตามความถนัดของแต่ละพรรคการเมือง เดิมในการอภิปรายทั่วไปครั้งล่าสุดได้เวลาทั้งหมด 22 ชั่วโมง คราวนี้จึงตั้งใจจะต่อรองให้ไม่ต่ำกว่า 22 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

"เป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย แม้ไม่มีการลงมติในสภา แต่จะอภิปรายให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจลงมติในคูหาเลือกตั้ง โดยชี้ให้เห็นความล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่อง ในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก เราจะถอดหน้ากากคนดี คนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราจะพูดในสภา"

นพ.ชลน่าน ยังระบุว่า บุคคลผู้จะมาอภิปรายของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ได้ด้วยความสมัครใจ แต่ถูกคัดเลือกและมอบหมายจากพรรคให้ทำหน้าที่ เสมือนเวทีปราศรัยใหญ่ แต่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคมีความมั่นใจในบุคคลที่ได้รับคัดเลือก ว่าจะนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ได้

เมื่อถามว่าการทอดเวลาของรัฐบาลที่นานกว่าเป็นปกติ กลัวว่าจะเป็นการชิงยุบสภาหนีหรือไม่ นพ.ชลน่าน ชี้ว่า 2 วันที่ผ่านมานี้ มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจะยุบสภาก่อน 15 ก.พ. เพื่อหนีการอภิปราย หาก ส.ส.ที่ประกาศว่าจะย้ายพรรคยังทำหน้าที่อยู่หลังวันที่ 6 ก.พ. เป็นต้นไปโดยไม่ย้าย ก็ยืนยันได้เลยว่าจะมีการยุบสภาแน่ เพราะตรงตามเงื่อนไข 90 วันที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง

"ระบอบประชาธิปไตยอาศัยอำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ท่านหนีสภาได้ แต่ท่านหนีประชาชนไม่ได้ เพราะประชาชนจะพิพากษาท่านในคูหาเลือกตั้ง อย่าได้คิดทำ หากท่านได้ชี้แจงในสภา อาจจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ถ้าท่านหนีการอภิปราย จะไม่มีโอกาสอีกเลย"

นพ.ชลน่าน ยังชี้ว่าการยุบสภาอาจขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามด้วย โดยให้จับตาวันที่ 14 ก.พ. 24 ก.พ. และ 7 มี.ค. วันดังกล่าวนี้ ถือเป็นฤกษ์งามยามดี ที่ยุบสภาแล้วอาจจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ แต่ฤกษ์ดีของประชาชนคือวันที่เข้าไปกาบัตรเลือกตั้ง

"วันที่ 14 ก.พ. คือวันแห่งความรัก แต่มีใครบางคนจะเปลี่ยนวันแห่งความรักให้เป็นวันแห่งความเกลียด ผมก็ช่วยไม่ได้นะ ประชาชนจะฝังจำความเกลียดนั้นเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง" นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลเสนอเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นการฉกชิงความได้เปรียบของรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบแบบกำปั้นทุบดินตรงไหนก็ถูก ว่าใช่แน่นอน ขอแสดงความยินดีกับประชาชนที่ได้รับเงินเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต แต่การมาเติมเงินในช่วง 2 เดือนสุดท้าย เพราะคิดว่าจะได้คะแนนเพิ่ม ย่อมไม่สามารถซื้อใจประชาชนได้

"ประชาชนรู้ดีว่าเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชนและจะรู้ว่าทำไมผ่านมาถึง 8 ปี ถึงเพิ่งมาให้ เป็นการอาศัยจังหวะทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น แต่คุณเอาเปรียบประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจไม่ได้ คุณให้ช้าไป" นพ.ชลน่าน ระบุ

'ชลน่าน' ย้ำมารยาทไม่ดีชิงจับมือก่อนเลือกตั้ง เผยจับมือพรรคไม่นั่งร้านเผด็จการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงหลักการในการรวมพรรคจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐว่า เรามีหลักการจับมือกับคนที่ไม่ขัดหลักประชาธิปไตย มีนโยบายที่ตรงกัน โดย นพ.ชลน่าน ย้ำว่า แพทองธาร ไม่ได้เปิดเรื่องการจับมือ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น 

นพ.ชลน่าน ระบุว่า การประกาศจับมือกับพรรคการเมืองก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นมารยาทที่ไม่ดีทางการเมือง ไม่เคารพอำนาจประชาชน เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะมอบอำนาจให้ใคร แต่เราขอจับมือกับประชาชนก่อน หากดูเฉพาะวันเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเกินกว่า 250 เสียง จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะเลือกพรรคการเมืองมามีส่วนร่วมกับเราได้

“พรรคเพื่อไทยจะร่วมมือกับพรรคการเมืองที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้ เราจับมือกับพรรคไหน เราต้องดูว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร พรรคที่เราจะจับมือโดยหลักการ คือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย เคารพประชาธิปไตยเหมือนพรรคเพื่อไทย ไม่สนับสนุนและเป็นนั่งร้านให้เผด็จการ”

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ภาคประชาชนไว้ใจพรรคที่จะมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย ต้องดูว่าเราทำงานอย่างไร อุปสรรคและปัญหาเป็นหลักการที่เราจะทำร่วมกัน แต่เราไม่ประกาศจับมือกับใครก่อนเลือกตั้งแน่นอน

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องไปถามพรรคประชารัฐว่ามีอุดมการณ์อย่างไร ถ้าตนพูดเองจะไม่ดี แต่ประชาชนทราบและรู้เห็นอยู่แล้ว