ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ ‘พิธา-ก้าวไกล‘ เสนอแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่งยุติการกระทำ

วันที่ 31 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษา คดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองแล้ว อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 30 วันศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ข้อมูลและพยานหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องทั้งสอง รวมไว้ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74