วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย แถลงข่าวกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีมติร่วมกัน เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งจะยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 15 มิ.ย. เวลา 10.00 น. โดยประมาณ
นพ.ชลน่าน เผยว่า ยุทธการที่กำหนดไว้ในการอภิปรายครั้งนี้คือ 'เด็ดหัว สอยนั่งร้าน' โดยจะเป็นการอภิปรายรายบุคคล พุ่งเป้าไปที่หัว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนถึงนั่งร้าน คือคณะรัฐมนตรี (ครม.)
การอภิปรายอยู่ภายใต้กรอบข้อกล่าวหาหลัก 6 ข้อ ได้แก่
1) ความผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน
2) จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดต่อกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
3) ทุจริต ส่อทุจริต เอื้อประโยชน์
4) ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
5) ละเมิดสิทธิมนุษยชน
และ 6) ทำลายระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา
ด้าน สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีที่เป็นนั่งร้านนั้น จะมาจาก 3 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ รวมกันเป็น 9 คน บวกกับหัว คือนายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นทั้งหมด 10 คน ส่วนจะเป็นใครนั้น จะได้ทราบชื่อกันในวันที่ 15 ระหว่างนี้ให้นั่งร้านได้มีเวลาสำรวจตัวเองก่อน ไม่ให้ได้เคลื่อนไหวมาก
สุทิน ยังเผยว่า ระยะเวลาที่ประมาณการไว้ในการอภิปรายฯ ครั้งนี้ น่าจะมากกว่าครั้งที่ผ่านมา คือมากกว่า 4 วัน
ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า สำหรับกลุ่ม 3 ป. นั้น ถือเป็นนั่งร้านพิเศษ อีก 2 คน และยืนยันว่าจะเป็นหนึ่งกลุ่มที่ถูกตั้งเป้าในการอภิปรายด้วยเช่นกัน
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ตั้งกรอบไว้ ค่อนข้างมั่นใจ เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ชี้ชัดลงไป หลายคนอาจมองว่ามีใบเสร็จหรือไม่ แต่ใบเสร็จทางการเมืองไม่ใช่ใบเสร็จรับเงิน จึงค่อนข้างมั่นใจ ว่ารัฐมนตรีที่จะอภิปรายมีความทุจริตผิดกฎหมาย ขณะที่นายกฯ เองก็จะเป็นผลพวง ในส่วนที่เป็นหน้าที่โดยตรงของท่านในการกำกับดูแล
สำหรับเสียงของฝ่ายค้านนั้น ยังมีความเหนียวแน่น อาจมีความแปรปรวนบ้างในช่วงลงมติที่ผ่านมา ได้รับทราบและเข้าใจ แต่เราก็ไม่เคยนับรวมอยู่ในกลุ่มฝ่ายค้านเราอยู่แล้ว
นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า การลงคะแนนต้องอาศัยพลังที่ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่จะบอกว่ามีในมือก็ไม่ถูกนัก เพราะต้องเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะตัดสินใจ ต้องดูสถานการณ์และการอภิปรายต่อไป
ส่วนในกรณีที่วุฒิสภา จะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นั้นจะเป็นการฟอกขาวรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่ให้รัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน หากเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ก็อาจเข้าข่ายเป็นการฟอกขาวได้