ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.ระแวง 'ก้าวไกล' แก้ รธน. หมวด 1-2? 'ณัฐพงษ์' แถลงโต้วุฒิสภาขอยื้อประชามติแก้ รธน. พ่วงเลือกตั้งไปอีก 45 วัน ย้ำชี้แจงเหตุผลชัดเจนแล้ว ถูกต้องตามข้อบังคับ ไม่มีเหตุต้องเตะถ่วงอีก

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านกรณีเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติมติส่งเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ขอให้กรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว ได้ขยายเวลาการพิจารณาออกไป 45 วัน จากระยะเวลาเดิมที่ขอพิจารณา 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 

โดย ณัฐพงษ์ ได้ตอบโต้ สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งได้อภิปรายบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าผู้เสนอญัตติทำประชามติ คือ ณัฐพงษ์ และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยังไม่แน่ใจเลยว่าญัตติที่ตนเสนอมาถูกต้องหรือไม่

ณัฐพงษ์ ย้ำว่า เมื่อ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการชุดนี้ โดยแถลงข้อกังวล 3 ข้อของกรรมาธิการฯ ซึ่งเชื่อว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาที่ผ่านมา ควรลงมติในญัตติดังกล่าวได้แล้ว ไม่ใช่ขยายเวลาไปอีก 45 เพื่อเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลใดต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปขอญัตตินี้ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน ว่าประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การเสนอญัตติดังกล่าวจึงเป็นไปตามข้อบังคับ ไม่เกี่ยวข้องกับว่าเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นอย่างไร

"คณะกรรมาธิการฯ มีความหวาดระแวงว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตตินี้ เพื่อจะแก้ไขเนื้อหาหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่ ซึ่งผมได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน และยืนยันในเหตุผลดังที่กล่าวไปแล้ว ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเป็นคนละกระบวนการกันกับการทำประชามติ" ณัฐพงษ์ ระบุ

ณัฐพงษ์ ยังได้ชี้แจงว่า ตนไม่ได้บอกว่าจะต้องจัดทำประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง เพียงระบุว่าต้องมีการจัดทำประจำมติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น การให้จัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างการแก้ไขจัดทำ พ.ร.บ.ประชามติ ให้สมบูรณ์

ทั้งนี้ ครม. มีอำนาจในการเลือกวันของการทำประชามติ หาก ครม. คิดว่าไม่เหมาะสมที่จะจัดพร้อมกับวันเลือกตั้ง ก็สามารถจัดวันอื่นได้ แต่หากคิดว่าจะเป็นการประหยัดงบประมาณ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการหยิบ พ.ร.บ.ประชามติ ที่พรรคก้าวไกลเสนอไปบังคับใช้ได้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบญัตติเสนอให้ทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่เมื่อถึงชั้นวุฒิสภา ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญคณะหนึ่งขึ้นมาเพื่อศึกษาการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมีเวลาศึกษา 30 วัน

และมติของวุฒิสภาที่ให้ขยายเวลาพิจารณาออกไป 45 วันนั้น จะทำให้เรื่องดังกล่าวกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งในช่วงไม่เกินต้นเดือน ก.พ. 2566 เพื่อลงมติตัดสินว่าจะเห็นด้วยกับญัตติของสภาฯ หรือไม่ ขณะที่สมัยประชุมของสภาฯ ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงวันที่ 28 ก.พ. 2566