วันที่ 8 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึง มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับหนังสือ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 สภาฯ มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเนื้อหาของร่างกฏหมายรายมาตราแล้วนั้น นักกิจกรรมภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม และนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองการจัดตั้งสมรสเท่าเทียม ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ดำเนินการพิจารณากฎหมายรายมาตราให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 18 ก.ย. 65 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการทำงานของคณะกรรมาธิการ และเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดประชุมสภา สมัยสามัญครั้งที่หนึ่งประจำปี 2565
ทั้งนี้ ในการทำงานของสมาชิกกรรมาธิการฯ และในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ภาคีฯ ขอประณามถ้อยคำ การกระทำ และทัศนคติที่แสดงออกถึงความเกลียดกลัวเพศหลากหลาย อันไม่สมควรปรากฏในการแสดงออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พึงเป็นตัวแทนเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมในนามของประชาชน ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับต่อพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่สื่อถึงการเลือกปฏิบัติเช่นนี้
โดย ธีรรัตน์ กล่าวว่า ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และรับรู้ถึงความตั้งใจที่อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคน เพื่อให้เท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในฐานะสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นฝ่ายของบัญญัติกฎหมาย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ชุมาพร แจกการ์ดเชิญสื่อมวลชนและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมงานแถลงข่าว 'นฤมิตวิวาห์' ที่จะชี้แจง งานสมรสของคู่รัก LGBTQ+ มากที่สุด ในวันที่ 14 ก.พ. 2566