สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 67 ตีตกคำอุทธรณ์กองทัพเรือ ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัดส่วน สส.เพื่อไทย ว่า ทางกรรมาธิการ ได้สะท้อนปัญหาและได้ทวงถามนโยบายของรัฐบาล ว่าถ้าจะให้ทั้งเรือฟริเกตและเรือดำน้ำในปีเดียวกัน งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะโป่งพองขึ้น สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดบุคลากรและงบประมาณลงหรือไม่ จึงต้องมีการปรับแผน แต่ยืนยันว่าโครงการจัดหาเรือฟริเกตยังคงเป็นไปตามแผน เพียงแต่ระยะเวลาต้องปรับเปลี่ยน อาจจะไม่ใช่ปีงบ 67 แต่ขยับไปเป็นปีงบประมาณอื่น เพราะขณะนี้เรื่องเรือดำน้ำก็อาจจะได้ข้อสรุป ซึ่งมีแนวโน้มจะต้องจัดงบซื้อเรือดำน้ำ จึงห่วงว่างบประมาณจะไม่พอ ต้องทำทีละอย่าง ซึ่งทางกรรมาธิการคุยกับรัฐบาลก็มีความเห็นเป็นเช่นนี้ โดยอาจจะจัดหาในปีงบ 68
เมื่อถามว่า งบปี 68 จะไปชนกับกองทัพอากาศ ที่ขอจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ ซึ่งจะดันเพดานของกระทรวงกลาโหมสูงอีกเช่นกัน สุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมต้องบริหารจัดการให้ดี ทุกอย่างเราอยากให้เป็นไปตามแผนของเหล่าทัพ แต่จะสลับปรับเปลี่ยนอย่างไรเป็นเรื่องที่กำลังทำอยู่
เมื่อถามว่า งบประมาณ 1,700 ล้านบาท ของกองทัพเรือ จะนำเข้างบกลาง หรือคืนให้กองทัพเรือ สุทิน กล่าวว่า หากเป็นไปตามระบบ ก็ต้องนำเข้างบกลาง แต่ถ้างบก้อนนี้กองทัพเรืออยากได้เงินส่วนนั้นมาทำภารกิจอื่น เช่น การซ่อมบำรุงยุทธโธปกรณ์ ก็ต้องทำเรื่องขึ้นมา ให้ทันก่อน 26 มีนาคม ที่จะปรับปรุงงบประมาณรอบสุดท้าย และเชื่อว่าทางรัฐบาลจะพิจารณาให้กลับมาเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ
เมื่อถามว่า ตามแนวทางของกระทรวงกลาโหม หากเหล่าทัพหนึ่งได้จัดซื้อโครงการใหญ่ เหล่าทัพอื่นจะไม่ได้ใช่หรือไม่ สุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ทุกเหล่าทัพสามารถจัดซื้อได้ เพียงแต่เหล่าทัพจะต้องมีการปรับ เช่น หากกองทัพเรือจะซื้อเรืออะไร ก็ต้องขยับนิดหน่อย เช่นเดียวกับกองทัพอากาศที่จะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ ซึ่งยังต้องเป็นไปตามแผนของแต่ละเหล่าทัพอยู่
เมื่อถามว่า การที่ต้องนำเงินส่งงบกลาง เพราะต้องนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลหรือไม่ สุทิน กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกันกับโครงการดังกล่าว เป็นเรื่องการจัดงบประมาณของแต่ละเหล่าทัพ ว่าจะเอาอะไรก่อนหลัง และต้องอยู่ในกรอบนโยบายของรัฐบาล เรียกว่าหมุนและปรับงบในส่วนของกระทรวงกลาโหม ไม่มีเรื่องนโยบายอื่นมาเกี่ยวข้อง
ส่วนความคืบหน้าการหาข้อสรุปโครงการเรือดำนั้น สุทิน กล่าวว่า น่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ เมื่อสรุปแล้วน่าจะต้องเป็นเรื่องที่ใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหา เบื้องต้นแนวโน้มก็คือเรือดำน้ำ แต่จะเป็นที่ไหนอย่างไรต้องฟังคณะทำงาน
ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ยกเลิกเรือดำน้ำจีนแล้วไปจัดหาจากชาติอื่น สุทิน กล่าวว่า ต้องไปสอบถามคณะทำงาน แต่แนวทางที่จะเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือชนิดอื่น คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะจากการสอบถาม พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาโครงการเรือดำน้ำ ก็บอกว่าต้องเป็นเรือดำน้ำ ส่วนจะเป็นเรือที่ไหนอย่างไร กรรมการยังคุยกันไม่เสร็จ แต่คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน
สุทิน กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี)ไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 21 -22 มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการเดินทางไปกัมพูชาของ คณะ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจเกี่ยวพันเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน หรือไม่ ว่า เป็นวาระปกติที่มีมาก่อนแล้ว และมีการประชุมทุกปีไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น
ส่วนที่กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เรียกร้องให้รัฐมนตรีกลาโหม พูดให้ชัดเรื่องสถานะของเกาะกูดนั้น ตนคิดว่า ทหาร หรือกลาโหม จะไปพูดชัดเลยไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปพูดออกหน้าหรือล้ำหน้าไป ก็ไม่ถูก จึงต้องพูดตามบทหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น