ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าก้าวไกลชี้​ยอดโควิดสะสมทะลุ 3 ล้าน ยอดผู้ป่วยหนักอาจเพิ่มขึ้นสูงกว่าระลอกเดลต้า เรียกร้องภาครัฐต้องรีบเตรียมการระบบสาธารณสุขให้พร้อมรับมือสถานการณ์ อย่าให้มีใครเสียชีวิตจากความล่าช้า

วันที่ 6 มี.ค. 2565 พิธา​ ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ระดับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยถือว่าสูงกว่าจุดสูงสุดของการระบาดในรอบเดลต้าแล้ว และยอดผู้ป่วยโควิดสะสมในประเทศไทยก็แตะ 3 ล้านคนไปในวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยหนัก ในระลอกเดลต้า วันที่มีผู้ป่วยหนักกำลังรักษามากที่สุดคือ 16 ส.ค. 2564 ที่มีผู้ป่วยหนัก 5,626 ราย มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,161 ราย เทียบกับในระลอกปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีผู้ป่วยมากกว่า แต่มีผู้ป่วยหนัก 1,145 ราย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 366 ราย ถือว่าสถานการณ์ยังรุนแรงน้อยกว่าจุดสูงสุดของการระบาดช่วงเดลต้าอยู่พอสมควร

พิธา ระบุว่า จำนวนเคสยืนยันเพิ่มขึ้นต่อวันจะขึ้นไปสูงสุดที่ 40,000 - 50,000 เคส ในช่วงกลางเดือน เม.ย. สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยหนักจะวิกฤติที่สุดประมาณ 2,000 คนที่ทำการรักษาอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งถือว่าความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขยังน้อยกว่าระลอกเดลต้าประมาณครึ่งหนึ่ง 

สำหรับการเตรียมรับมือการระบาดในระลอกนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเตรียมซื้ออุปกรณ์การแพทย์รองรับผู้ป่วยโควิด เหลือง-แดง มูลค่า 5,731 ล้านบาท การอนุมัติในครั้งนี้ถือว่าเสียเวลาไป 2 เดือนหลังจากที่มติ ครม. ให้ทบทวนโครงการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ 13,675 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ให้การจัดซื้อตรงจุดกับผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ยังได้ให้หน่วยงานจัดทำรายงานยืนยันว่าสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ในกรอบเวลาของ พ.ร.ก. เงินกู้ 2564 (หรือ ก.ย. 2565) และขอให้หน่วยงาน “ปฏิบัติตามมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน” ซึ่งทำให้เป็นไปได้อย่างมากว่าโครงการที่อนุมัติไปในเดือนกุมภาพันธ์จะไม่สามารถจัดซื้อได้ทันสำหรับช่วงที่ฉากทัศน์การระบาดของรัฐบาลเองจะรุนแรงมากที่สุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 

พิธา ย้ำว่า สิ่งที่ตนจะขอเรียกร้องต่อรัฐบาลในครั้งนี้คือความรวดเร็วของการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่าย อย่าให้ต้องมีใครเสียชีวิตจากความล่าช้า เพราะกฎระเบียบหยุมหยิมของราชการอีกเลย จะมีประโยชน์อะไรที่แก้ไขโครงการให้ตรงจุดมากขึ้น แต่เครื่องช่วยหายใจที่ซื้อได้มาทีหลังจากการระบาดสิ้นสุดไปแล้ว อย่าความผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนระลอกเดลต้าอีกเลยครับ

"ถึงบุคลากรด่านหน้าทุกท่าน ผมขอขอบคุณที่ทุกท่านต่อสู้มาเป็นเวลากว่า 2 ปี ผมเข้าใจว่าทุกท่านเหนื่อยมามากแล้ว รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้มีกำลังคนเพียงพอและมีขวัญกำลังใจที่เพียงพอ ในตอนนี้ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการเพิ่มบุคลากรการแพทย์เพื่อรองรับโควิดระลอกใหม่ 2,402 ตำแหน่ง ใช้งบกลาง 1,080 ล้านบาท แต่ก็เป็นโครงการที่ถูกปรับแก้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากเดิมที่ สธ. ขอเพิ่ม 5,000 ตำแหน่งใช้งบ 4,300 ล้านบาท"

พิธา ระบุว่า ตนตระหนักดีครับว่าการปรับลดโครงการในเวลานั้นเป็นเพราะสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในช่วงปลายปี แต่ในเวลานี้ที่แม้แต่ฉากทัศน์ของรัฐบาลเองการระบาดในระลอกนี้อาจร้ายแรงไม่แพ้การระบาดในระลอกเดลต้า ดังนั้น รัฐบาลควรรีบทบทวนสถานการณ์และเตรียมพร้อมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอกับสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป​