คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ความห่วงใยต่อวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยระบุว่า
ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่า พื้นที่หลายแห่งในจังหวัดภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์มลพิษทางอากาศยังไม่บรรเทาเบาบางลง กลับเข้าสู่สภาวะวิกฤตที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระดับที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครซึ่งพยายามเข้าดำเนินการควบคุมไฟป่าที่เกิดจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหา เพื่อให้สิทธิในการมีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย และสิทธิของบุคคลที่จะมีสุขภาพที่ดีตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
กสม. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาล หน่วยงานของรัฐและองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เช่น การสนับสนุนหน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษทางอากาศ และการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันภัยให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครซึ่งร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเพียงพอ รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการใช้บังคับกฎหมายแก่ผู้ที่เผาป่าและพื้นที่เกษตรกรรมโดยมิชอบอย่างจริงจัง
2. รัฐบาลควรยกระดับวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ และเร่งประกาศวาระแห่งชาติด้านการแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นละอองตามที่ได้ดำริอยู่แล้ว โดยกำหนดแผนการบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น แผนการควบคุมมลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการเกษตร แผนการเตือนภัยและการป้องกัน แผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และแผนการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะเรื่องการเผาทำลายพื้นที่ป่า โดยบูรณาการการทำงานและองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง และกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
3. รัฐบาลควรแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาป่าในประเทศของตนที่ส่งผลต่อปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยตามกรอบข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution - AATHP)
4. รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงในการป้องกันตนเองจากมลพิษที่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
5. ประชาชนควรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการติดตาม เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ กสม. จะติดตามวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิในการมีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :