คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ประณามเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีข้อความว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2561 ได้เกิดเหตุระเบิดในบริเวณสวนยางพารา พื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 5 ครั้ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการฝัง ‘กับระเบิด’ ไว้ในบริเวณสวนยางพาราเป็นเหตุให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งสิ้นจำนวน 5 ราย
กสม. ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิในชีวิตด้วยการวางกับระเบิดในสวนยางพาราอันเป็นพื้นที่ทำมาหากินของเกษตรกรและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาอยู่เสมอ จึงเป็นการกระทำที่หวังผลทำลายล้างโดยไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประชาคมโลกไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 หรือ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2542
กสม.มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งและขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยการวางกับระเบิดหรือทุ่นระเบิดสังหารบุคคลผู้บริสุทธิ์ในครั้งนี้
ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยหวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง ภยันตรายทั้งปวงที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสงบสุขอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ฮิวแมนไรท์วอทช์ หรือ HRW องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดย HRW ประณามผู้วางกับระเบิดในสวนยาง ทำให้พลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บในจังหวัดชายแดนใต้ และเรียกร้องรัฐบาลไทยใช้ยุทธวิธีตอบโต้กลุ่มก่อเหตุโดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องยุติการใช้กำลังอาวุธบังคับขู่เข็ญประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: