รายงานข่าวจากเว็บไซต์ 'เดลินิวส์' ระบุถึงนายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 5.26 แสนล้านบาทนั้น จากการประชุมกับตัวแทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาได้รับการยืนยันคำตอบเหมือนเดิมคือ ทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว
"เพราะเห็นว่าเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลไทยควรลงทุนเองทั้งหมด เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศระยะยาว"
ขณะที่ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา นิคเคอิ เอเชี่ยน รีวิว เผยแพร่รายงาน เรื่อง ประเทศไทยบนเส้นทางการพัฒนาศูนย์กลางระบบรางภูมิภาค โดยระบุว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างความมุ่งมั่นพัฒนาเส้นทางรถไฟ เพื่อให้หลุดจากประเทศที่ใช้รถยนต์ไปสู่การเดินทางด้วยรถไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางระบบรางของภูมิภาค
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยใช้เงินกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8 แสนล้านบาท) สำหรับสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในจำนวนนี้ใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 485 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสร้างสถานีชุมทางหลักบางซื่อในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ การก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 60 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยคาดว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน พร้อมกับใช้สถานที่นี้เป็นศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและต่อเชื่อมกับรถไฟในเมืองสายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม นิคเคอิ เอเซี่ยน รีวิว ตั้งข้อสังเกตว่า โครงข่ายรถไฟของประเทศไทยมีระยะทางทั้งสิ้น 4,000 กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่เป็นรางเดียว รถไฟเก่า ระบบปฏิบัติการขาดประสิทธิภาพ การเดินทางด้วยรถไฟผู้โดยสารต้องทนใช้เวลานานถึง 11-14 ชั่วโมงสำหรับการเดินทางขึ้นเหนือไปเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ซึ่งมีผลทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากเปลี่ยนใจเลือกเดินทางเครื่องบิน ซึ่งเร็วกว่ามาก หรือเดินทางด้วยรถบัสที่มีระยะทาง 670 กิโลเมตรแทน
ดังนั้น ความหวังกับเส้นทางรถไฟเส้นใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จึงอยู่ที่การช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางลงอย่างน้อย 3 ชั่วโมงครึ่งจากเวลาปกติ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างมากถึง 4.2 แสนล้านบาท สำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่น
อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 250 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา และต่อเชื่อมกับสนามบินนานาชาติในกรุงเทพฯ และอู่ตะเภาในจ.ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
รวมถึงการต่อเชื่อมระบบรางขนานใหญ่ของประเทศ เพื่อยกระดับและขยายเส้นทางรถไฟที่วิ่งขึ้นเหนือและลงใต้ผ่านกรุงเทพฯ ตามเส้นทางที่มีอยู่ผ่านชุมทางสถานีหลักบางซื่อ เป็นความพยายามของประเทศไทยที่จะริเริ่มการลงทุนใหม่ๆ ด้วยความหวังจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเพื่อผลักดันประเทศไทยหลุดกับดับประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ตามระดับเศรษฐกิจที่พัฒนาไปข้างหน้า
แต่ประเทศไทยก็ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ประเทศไทยไม่ได้มีเมืองขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นที่จะรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงจำนวนมาก ประเทศไทยมีเพียงกรุงเทพ เชียงใหม่ และเมืองขนาดกลางไม่กี่แห่ง ที่จะทำได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นข้อจำกัดในเรื่องปริมาณความต้องการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงของไทย และประเด็นนี้ก็ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายรายยังไม่มีใครแสดงความสนใจอย่างมากที่จะเข้ามาดำเนินการสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย อย่างที่ผู้บริหารรายหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่นกล่าวกับนิคเคอิฯ ว่า "มีโอกาสสูญเสียอย่างไม่จำกัด หากเราเข้าไปทำโครงการรถไฟในประเทศไทย"
สนข.เร่งจัดแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร รอง ผอ.สนข. ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครตามคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ สนข.ได้หารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อวางแผนแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นระบบ เบื้องต้นต้องเร่งจัดทำแผนลงทุนระยะเร่งด่วน และระยะกลาง
เช่น การทำทางลอดอุโมงค์และทางยกระดับ รวมถึงแผนปรับปรุงบริเวณจุดตัดแยกต่างๆ เพื่อระบายการจราจรให้ไหลลื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่วงแหวนกรุงเทพฯ ชั้นใน
ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหารถติดอย่างมาก อาทิ ถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น สำหรับแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2562 สำหรับภาพรวมนั้นจะมีการแยกแผนแก้ปัญหารถในกรุงเทพฯ เป็น 10 ระเบียงเส้นทาง
โดยจะมีทั้งลงทุนงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจราจร และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้บริหารการจราจร ขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า สำหรับแผนแก้ไขปัญหารถติดในเส้นทางที่มีปัญหาสะสมมายาวนานนั้นคือถนนรัชดาภิเษก
ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดตามจุดตัดบริเวณแยกทำให้ส่งผลกระทบไปยังถนนเส้นอื่น ดังนั้นจึงมีแผนก่อสร้างสะพานยกระดับและอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกที่ยังมีปัญหาจราจรในปัจจุบัน อาทิ แยกรัชดาภิเษกตัดกับถนนเพชรบุรี แยกรัชดาภิเษกตัดกับถนนสุขุมวิท และแยกรัชดาภิเษกตัดกับถนนพระรามเก้า
นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างทางยกระดับช่วงสุขุมวิท-พระราม 3 ระยะทาง 10 กม. วงเงินลงทุน 1-2 หมื่นล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :