ไม่พบผลการค้นหา
นายกสมาคมทนายความ ชี้ อำนาจ ส.ว. อาจทำให้สภาฯ ถึงทางตัน สงสัย กกต.คิดคะแนน เอื้อบางพรรคตั้งรัฐบาล หลังส.ส. 11 พรรคได้ประโยชน์พร้อมใจยกมือเลือก พล.อ.ประยุทธ์

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า ถ้าพิจารณาจากรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือก มั่นใจว่าประชาชน เกือบทั้งประเทศไม่เห็นด้วย เพราะเป็นคนใกล้ชิด คสช. รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ไม่ถูกเปิดเผย ทราบเพียงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเท่านั้น

ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 269(1) ระบุไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการต้องเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมือง แต่จากรายชื่อ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว.กลับเป็นคนของ คสช. เกือบทั้งหมด มีอดีตนายพล อดีต สนช. อดีต สปช. ซึ่งการเลือกบุคคลในลักษณะเช่นนี้ ใช้เพียง Application Line ไม่ต้องใช้งบประมาณถึง 1,300 ล้านบาทตามที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ก็สามารถทำได้

นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยระบุด้วยว่าอำนาจของ ส.ว.ไม่เพียงแต่ สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น แต่ความกังวลคือ ส.ว. จะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีส่วนสำคัญในการกดดัน การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อาจนำไปสู่การทำให้รัฐสภาเกิดทางตันหรือไม่

นายนรินทร์พงษ์ มองว่าการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขาดประสิทธิภาพบกพร่องโดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคขนาดเล็กได้ ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่งถึง 11 พรรค ซึ่งยังพอเข้าใจได้หากทั้ง 11 พรรค มีวิธีคิด วิธีตัดสินใจและเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแตกต่างกัน แต่ทั้ง 11 พรรคซึ่งได้คะแนน จากการคำนวณ ส.ส. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัดสินใจสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีคำถามตามมาว่า การคำนวณคะแนนตามสูตรของ กกต. เพื่อเอื้อให้บางพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่